นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปี 2566 หนี้ครัวเรือน มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
โดยครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลง ทุกประเภทสินเชื่อ
โดย NPLs มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็น 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน
อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือนมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
1 การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน อีกทั้ง ต้องติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง
2 การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่สะท้อนการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
3 การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบควบคู่กับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต