ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT กล่าวว่า AOT ได้สรุปปริมาณการจราจรทางอากาศช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่
มีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่งรวมกว่า 2.49 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศกว่า 1.54 ล้านคน แยกเป็นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ 789,420 คน ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ 749,990 คน และมีผู้โดยสารภายในประเทศกว่า 955,800 คน แยกเป็นผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ 475,860 คน ผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ 479,940 คน
ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 14,934 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 8,303 เที่ยวบิน แยกเป็นเที่ยวบินขาออกระหว่างประเทศ 4,156 เที่ยวบิน เที่ยวบินขาเข้าระหว่างประเทศ 4,147 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 6,631 เที่ยวบิน แยกเป็นเที่ยวบินขาออกภายในประเทศ 3,317 เที่ยวบิน เที่ยวบินขาเข้าภายในประเทศ 3,314 เที่ยวบิน
ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงดังกล่าวที่ ทสภ.มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด คือ 1.26 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศกว่า 1.03 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศกว่า 229,000 คน รองลงมา คือ ทดม.มีผู้โดยสารใช้บริการ 633,000 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 264,000 คน และผู้โดยสารภายในประเทศ 369,000 คน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้ใช้บริการ ทสภ.จำนวนมาก แต่การให้บริการยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งในส่วนของกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ระยะเวลาเฉลี่ยทั้งกระบวนการเป็นไปตามเป้าหมายที่ AOT ตั้งไว้ โดยระยะเวลาการใช้บริการในกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ
ในภาพรวมเฉลี่ย 16 นาทีต่อคน (เวลาเฉลี่ยสูงสุด 29 นาที ต่ำสุด 7 นาที และกระบวนการผู้โดยสารขาออกภายในประเทศเฉลี่ย 25 นาทีต่อคน (เวลาเฉลี่ยสูงสุด 45 นาที ต่ำสุด 15 นาที) สำหรับระยะเวลาการใช้บริการกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 27 นาทีต่อคน (เวลาเฉลี่ยสูงสุด 48 นาที ต่ำสุด
15 นาที) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศเฉลี่ย 37 นาทีต่อคน (เวลาเฉลี่ยสูงสุด 62 นาที ต่ำสุด 19 นาที)
ทั้งนี้ กระบวนการผู้โดยสารขาเข้ามีการระบายผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก AOT ได้บูรณาการความร่วมมือกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้จัดอัตรากำลังพลประจำเคาน์เตอร์ตรวจลงตราหนังสือเดินทางอย่างเพียงพอ รวมทั้งประสานสายการบินในส่วนของการลำเลียงกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารมายังสายพานรับกระเป๋า ทำให้ระยะเวลาเฉลี่ยระหว่างกระเป๋าใบแรก (first bag) และกระเป๋าใบสุดท้าย (last bag) ใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้ AOT ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ Airport Ambassador อำนวยความสะดวกผู้โดยสารในการแนะนำการใช้เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เครื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS) รวมถึงช่วยเกลี่ยคิว และคัดแยกผู้โดยสาร ตลอดจนจัดรถเข็นกระเป๋าให้พร้อมบริการอยู่เสมอด้วย
สำหรับการให้บริการรถขนส่งสาธารณะภายในท่าอากาศยาน AOT ได้จัดเตรียมไว้อย่างครอบคลุมทุกประเภทตั้งแต่รถแท็กซี่สาธารณะ รถ AOT Limousine รถโดยสาร ขสมก. รถโดยสารวิ่งระหว่างเมือง ฯลฯ รวมถึงการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันอย่าง GRAB CAR รถไฟฟ้า Airport Rail Link และรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสามารถเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่จราจรคอยอำนวยความสะดวกการจราจรบริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง โดยในส่วนของขาเข้าในช่วงที่มีการจราจรหนาแน่นได้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่จราจรในการอำนวยความสะดวก และผลักดันรถไม่ให้มีการจอดรถรอผู้โดยสารส่งผลให้การจราจรคล่องตัวและไม่หนาแน่น
ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพและระดับการให้บริการของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT ให้เป็นท่าอากาศยานที่มีมาตรฐานสากล มีความสะดวกสบาย ผู้โดยสารได้รับการบริการที่รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศต่อไป