นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยผลประกอบการของ IRPC ช่วงไตรมาสที่ 1/2567 ว่า บริษัทฯ มีกำไร 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 413 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 145 จากไตรมาส 4/2566 โดยมีรายได้รวม 74,644 ล้านบาท ลดลง 652 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566
จากการที่บริษัทฯ สามารถผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ภายในประเทศในไตรมาส 1/2567 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลที่บริษัทฯ จำหน่ายปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมีมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะส่วนต่างราคาในกลุ่มโอเลฟินส์ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลัก จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของประเทศอินโดนีเซีย หลังจากรัฐบาลเตรียมประกาศแผนบังคับใช้ใบอนุญาต สำหรับการนำเข้าเคมีเคมีภัณฑ์ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 5,618 ล้านบาท (9.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 107
นอกจากนี้การลดการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของกลุ่มโอเปคพลัส และความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นในไตรมาส 1/67 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน จำนวน 901 ล้านบาท ประกอบกับมีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับจำนวน 1,324 ล้านบาท และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน (Hedging Oil) จำนวน 59 ล้านบาท รวมเป็นการบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Gain) รวม 2,284 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี จำนวน 7,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 978% และมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA จำนวน 4,680 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 1/2567 ปัจจัยลบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ ทางการเงิน 319 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้จำนวน 134 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 145 จากไตรมาสก่อน
นายกฤษณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ IRPC ช่วงไตรมาส 2/2567 คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2567 จากภาคการบินที่เริ่มฟื้นตัวและทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันในภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตรและภาคขนส่ง ขณะที่กลุ่มโอเปกพลัสยังคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2567
สถานการณ์ตลาดปิโตรเคมีไตรมาส 2/2567 คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว รวมทั้งในช่วงไตรมาสนี้ โรงงานหลายแห่งของประเทศจีนเข้าสู่ช่วงฤดูกาลซ่อมบำรุงประจำปี ขณะที่ปัจจัยบวกในประเทศจะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นตามนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะสามารถเบิกใช้จ่ายได้เมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย.2567 จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสนับสนุนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปีโตรเคมีให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศจีนที่เป็นตลาดหลักของกลุ่มปิโตรเคมียังคงต้องรอการฟื้นตัว
“บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันสะอาดดีเซลกำมะถันต่ำตามมาตรฐานยูโร 5 เมื่อปลายปี 2566 สอดรับตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้จำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ขณะที่โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซลยูโร 5 หรือ UCF (Ultra clean fuel) จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/2567 ทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันสะอาดดีเซลกำมะถันต่ำมาตรฐานยูโร 5 ประมาณ 93,500 บาร์เรลต่อวัน
ในเดือน มี.ค.67 บริษัทฯ สามารถผลิตและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Products) เพิ่มขึ้น ได้แก่ 1. POLIMAXX HDPE 100 RC เกรดพิเศษสำหรับผลิตท่อ PE100 ที่มีคุณสมบัติทนต่อแรงดันและแรงกระแทกสูงอายุใช้งาน 50 ปี ตามมาตรฐาน EN 1555 – 2021 สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ของการก่อสร้างแบบเจาะลอดใต้ผิวดิน และ 2. อะเซทิลีนแบล๊ก (Acetylene Black) ที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยในการนำไฟฟ้า ลดไฟฟ้าสถิตย์ ช่วยถ่ายเทประจุความร้อน เป็นต้น สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เป็นต้น