เอดีบี ปล่อยกู้เงินติดล้อ

Date:

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบีและเงินติดล้อ (TIDLOR) ได้ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้มูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (5.5 พันล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจรายย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง (Micro, Small and Medium Enterprise: MSMEs) ในชนบทของประเทศไทย โดยเน้นเฉพาะกิจการที่มีสตรีเป็นผู้นำหรือเป็นเจ้าของ ตลอดจนผู้ที่ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่ทางการเกษตร

เงินกู้ของเอดีบีดังกล่าว จะนำไปสนับสนุนการเงินแก่ MSMEs ที่ด้อยโอกาส ในชนบทของประเทศไทย โดยเงินกู้ร้อยละ 75 จัดสรรให้กับธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ และส่วนที่เหลือจะจัดสรรให้กับ MSMEs ในธุรกิจภาคการเกษตร ซึ่งโครงการนี้จะเน้นไปที่ MSMEs ในจังหวัดนอกกรุงเทพฯ เท่านั้น

“MSMEs โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนหมุนเวียนและการกู้ยืมอย่างเป็นทางการจากธนาคาร โดยหลายแห่งได้หันไปใช้ช่องทางลัดซึ่งทำให้ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยสูงและถูกเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ ซึ่งการสนับสนุนจากเอดีบีนั้น จะช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนที่เชื่อถือได้และราคาไม่แพง เพื่อช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จ” นางซูซาน กาบูรี่ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ สำนักปฏิบัติการภาคเอกชนของเอดีบีกล่าว “ผู้หญิงและภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน”

MSMEs ของประเทศไทยเป็นภาคส่วนสำคัญหลักของเศรษฐกิจ โดยช่วยก่อให้เกิดการจ้างแรงงานส่วนใหญ่และสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้มากกว่าถึงหนึ่งในสาม ธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำนั้น มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของ MSME ทั้งหมด แต่ภาคส่วนนี้ยังคงเผชิญกับช่องว่างทางการเงินที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 41 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19

นอกจากนี้ เอดีบียังจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแก่ TIDLOR เพื่อช่วยพัฒนากรอบการทำงานด้านการเงินเพื่อสังคม (Social Finance Framework: SFF) โดยผ่านการสนับสนุนของกองทุน PRC Poverty Reduction และ Regional Cooperation Fund ซึ่งเป็นครั้งแรกสำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามโดยรวมของเอดีบีในการกระตุ้นการออกตราสารหนี้อย่างยั่งยืนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

SFF จะสอดคล้องกับมาตรฐานออกตราสารหนี้เพื่อสังคมของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและความเป็นหนึ่งเดียวกันของพันธบัตรทางสังคมผ่านการกำหนดโครงการเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับมาตรฐานนอย่างชัดเจน และช่วยสร้างข้อกำหนดในการรายงานอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ให้กู้และนักลงทุน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ TIDLOR สามารถขอสินเชื่อในอนาคตหรือออกพันธบัตร และยังช่วยดึงดูดนักลงทุนที่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมในตลาดทุนไทยให้ได้รู้จักมากขึ้น

“เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรกับเอดีบีในโครงการนี้ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทของเราในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงด้วยแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและข้อมูล นอกจากนี้เรายังชื่นชมความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคของเอดีบี เพื่อช่วยให้ TIDLOR กลายเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมของเราในการแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการเงินที่ครอบคลุมผ่านกรอบการทำงานด้านการเงินเพื่อสังคม” นายปิยะศักดิ์ อุกฤษนุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) กล่าว

TIDLOR เป็นหนึ่งในผู้ให้สินเชื่อทะเบียนรถชั้นนำในประเทศไทย ด้วยสาขามากกว่า 1,678 แห่งทั่วประเทศ โดยที่ TIDLOR นั้น ได้ปรับการดำเนินงานให้มุ่งสู่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีประวัติสินเชื่อน้อย หรือไม่มีเลย แต่จำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ ซึ่ง TIDLOR ได้ให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ธุรกิจรายย่อย ผ่านการรับสังหาริมทรัพย์ เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถบรรทุก ตลอดจนอุปกรณ์การเกษตรมาเป็นหลักประกันสินเชื่อ

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

Krungthai CIO แนะสะสมหุ้นสหรัฐ รับอานิสงส์นโยบายทรัมป์

Krungthai CIO มองตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่ง รับอานิสงส์นโยบายทรัมป์ แนะสะสมหุ้นการเงิน พลังงาน และหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ

กรุงเทพประกันภัย ยึดมั่นความเป็นองค์กรโปร่งใส

กรุงเทพประกันภัย ยึดมั่นความเป็นองค์กรโปร่งใส รับประกาศนียบัตรรับรองจาก CAC

Trump 2.0 : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ Trump 2.0 : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

กลุ่มธนาคารยูโอบี กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11

กลุ่มธนาคารยูโอบี รายงานผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1.6  พันล้านเหรียญสิงคโปร์