ไทยพาณิชย์ เดินหน้าภารกิจ “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” 

Date:

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจในปัจจุบันกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความท้าทายใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอันเป็นผลต่อเนื่องมาถึงการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำด้วยการปรับนโยบายและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การที่ภาคธุรกิจทั้งระบบกำลังปรับตัวไปพร้อมๆ กันนี้เอง ก็เป็นโอกาสที่จะสร้างการขยายตัวให้เศรษฐกิจครั้งใหม่ได้อย่างมหาศาล ด้วยกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของธนาคารซึ่งครอบคลุมถึงมิติด้านความยั่งยืนที่มีการดำเนินงานด้านนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมาตลอด 3 ปี โดยมุ่งมั่นเป็นธนาคารชั้นนำแห่งความยั่งยืน ธนาคารจึงได้กำหนดแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” เพื่อเป็นหลักปฏิบัติที่จะนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกคน 

ภายใต้แนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ธนาคารเชื่อมั่นว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องร่วมกันตั้งเป้าหมาย สร้างแรงกระเพื่อม ประสานความร่วมมือ เพื่อสร้างอนาคตให้เราทุกคนได้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน โดยธนาคารมีบทบาทการสนับสนุนความยั่งยืนด้วยการจัดสรรเงินทุนให้แก่ลูกค้า(Sustainable finance) กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) พร้อมนำความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของธนาคารเข้าสนับสนุนการดำเนินงานความยั่งยืนทุกมิติ ทั้งนี้ ธนาคารได้วางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะสำคัญ ได้แก่ 1) สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2025 โดยปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2024 ได้สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท (โดยนับตั้งแต่ปี 2023) 2) ปรับการดำเนินงานองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030 และ 3) เป็นธนาคารไทยแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science-Based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว

เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายข้างต้น ธนาคารได้วางกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสำหรับการส่งต่อความยั่งยืนให้กับผู้เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 3 แกน ประกอบด้วย 1) Sustainable Banking สนับสนุนการเงินยั่งยืนแก่ลูกค้า 2) Corporate Practice Excellence นำไทยพาณิชย์สู่องค์กรแห่งความยั่งยืน และ 3) Better Society พัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1) Sustainable Banking สนับสนุนการเงินยั่งยืนแก่ลูกค้า เพื่อสนับสนุนลูกค้าลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจกับคู่ค้า และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นการเสริมโอกาสทางธุรกิจ ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในการสร้างสรรค์และพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไทยพาณิชย์เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักทางวิทยาศาสตร์ (SBTi) และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ หรือ Equator Principles (EP) Association ในการนำหลักการ EP ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาใช้ในการกำหนดนโยบายและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับการพิจารณาสินเชื่อโครงการของธนาคาร (Project Finance) เตรียมเงินทุนสนับสนุนการเงินยั่งยืนระหว่างปี 2023-2025 รวมกว่า 150,000 ล้านบาท และปัจจุบันได้อนุมัติวงเงินดังกล่าวไปแล้วกว่า 111,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังนำจุดแข็งทางเทคโนโลยีมาเพิ่มคุณค่าทางด้านการให้บริการและสนับสนุนลูกค้า ด้วยการมอบโซลูชั่นทางการเงินที่สอดคล้องกับธุรกิจของลูกค้า รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาและจัดหาพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยีอื่นๆ ในอนาคตเพื่อช่วยบริหารการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนระยะยาว 

2) Corporate Practice Excellence สร้างองค์กรแห่งความยั่งยืน มุ่งเน้นการนำไทยพาณิชย์ให้เป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero 2030 จากการดำเนินงานภายใน ทั้งทางด้านการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในองค์กรให้เป็นระบบประหยัดพลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้วยการสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืนภายในองค์กร พร้อมปลูกฝัง DNA ความยั่งยืนให้พนักงานธนาคารทุกคนด้วยทักษะและหลักสูตรต่างๆ พร้อมบูรณาการให้ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของทุกส่วนงานเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในองค์กรและช่วยเหลือลูกค้า ควบคู่ไปกับแผนการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของธนาคารตามยุทธวิธี AI-First Bank และการยกระดับงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมความสามารถและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับไทยพาณิชย์ 

3) Better Society มุ่งมั่นพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น การพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้นเป็นหนึ่งในความยั่งยืนที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง และได้ร่วมช่วยบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่เยาวชน ชุมชน และสังคมไทย มาเป็นเวลามากกว่า 3 ทศวรรษ ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสำหรับโลกอนาคต ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาเยาวชน ผสานด้วยเทคโนโลยีของธนาคารที่เข้าไปร่วมสร้างระบบนิเวศทางด้านการเงินและดิจิทัล มอบองค์ความรู้และส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีให้ผู้คนในรูปแบบที่เป็นไปได้  อาทิ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นโครงการ Smart University และ Smart Hospital โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ แล้วกว่า 400,000 ราย

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงกลยุทธ์เป้าหมาย Net Zero ของธนาคารเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ว่า “ธนาคารวางกรอบพันธกิจในการผลักดันเป้าหมาย Net Zero สำหรับพอร์ตสินเชื่อและการลงทุน (Scope 3 Category 15 Investment) ภายในปี 2050 ตามมาตรฐาน SBTi (Science Based Targets Initiative) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด จากกรอบการดำเนินงานที่อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ สะท้อนจากกว่า 8,800 องค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกที่ได้ให้คำมั่นหรือประกาศเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ตามกรอบ SBTi  โดยธนาคารไทยพาณิชย์ภายใต้ทิศทางนโยบายของ SCBX จึงนับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของไทยที่ประกาศเจตจำนงสู่เป้าหมาย Net Zero ตามกรอบ SBTi ซึ่งตอกย้ำวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและสร้างความพร้อมให้กับเศรษฐกิจไทยต่อความท้าทายและโอกาสของสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศและประชาคมโลกจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีรุนแรงยิ่งขึ้น  2. การบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ผ่านการสนับสนุนลูกค้าเพื่อให้สามารถปรับตัวก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สามารถแข่งขันได้ภายใต้กฎระเบียบใหม่ทางการค้าการลงทุนของโลก และ 3. โอกาสทางธุรกิจ จากความต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่เปลี่ยนไป 

ทั้งนี้ ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็น True partner ให้กับลูกค้าของเราตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนด้านการเงินที่ยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ (Sustainable Finance) ที่ครบถ้วนในทุกกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนการให้ความรู้และคำแนะนำการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความพร้อมและความต้องการของลูกค้าผ่านการจับมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในมิติต่างๆ ในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนการลงมือปฏิบัติได้จริง และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน  โดยธนาคารดำเนินการผ่านกลยุทธ์ ไว้ 3 ด้าน ดังนี้ 

1)  การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target (Net Zero Financed Portfolio Management) ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) โดยในธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้เป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทยมายาวนาน โดยมีมูลค่าวงเงินอนุมัติสินเชื่อกว่า 1.98 แสนล้านบาทระหว่างปี 2011 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 61 ของพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร เทียบเคียงธนาคารชั้นนำของโลก และทำให้ความเข้มข้นของการปล่อย GHG ต่อหนึ่งหน่วยการผลิตไฟในพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักภายใต้วิธี Sectoral Decarbonization Approach (SDA))  มีการปรับตัวลดลง และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าทั่วโลกและต่ำกว่าเส้นทางในการบรรลุ Net Zero 2050 ตาม Paris Agreement โดยกลยุทธ์ในระยะถัดไป ธนาคารจะยังคงเพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งต่อลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ เพื่อสนับสนุนความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการลดการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน ผ่านการทยอยลดสินเชื่อคงค้าง (Coal Phasing Out) และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน

สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธนาคารได้นำวิธี Implied Temperature Rise (ITR) ตามกรอบ SBTi มาใช้ในการวัดเป้าหมายและความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยระดับอุณหภูมิของสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น (Commitment) ในการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยจากผลสำรวจล่าสุดในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่จำนวน 218 ราย ที่คิดเป็นร้อยละ 84 ของสินเชื่อในกลุ่ม ITR ทั้งหมด (ยอดสินเชื่อทั้งหมด 4.99 แสนล้านบาท) พบว่า ระดับการตั้งเป้าหมายของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มีความหลากหลาย โดยลูกค้าจำนวน 77 ราย ซึ่งมีสินเชื่อรวมคิดเป็นร้อยละ 47 ของยอดสินเชื่อในกลุ่มสำรวจทั้งหมดมีการกำหนดและประกาศเป้าหมายที่ครบถ้วน อย่างไรก็ดี ยังมีลูกค้าจำนวน 100 ราย ซึ่งมีสินเชื่อรวมคิดเป็นร้อยละ 35 ของยอดสินเชื่อในกลุ่มสำรวจทั้งหมด ยังไม่มีการเก็บข้อมูล GHG และไม่มีการตั้งเป้าหมายแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์ของธนาคารในการ engage กับลูกค้าเพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของลูกค้าแต่ละราย ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับลูกค้าที่มีการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ระดับอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอของลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปรับลงแล้วกว่า 0.19 องศาเซลเซียส จาก 2.84 องศาเซลเซียส จากปีฐาน 2021 มาอยู่ที่ 2.65 องศาเซลเซียส ในปี 2023 โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040  ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050

2) การสนับสนุนลูกค้าตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน (Partner for Client’s Sustainability Journey) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินยั่งยืนที่ครบถ้วน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกขนาดในแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการให้ความรู้และการนำเสนอ Technical Solutions ที่นำไปใช้ได้จริงแก่ลูกค้า ด้วยการผนึกกำลังกับองค์กรพันธมิตรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพของบุคลากร  การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและกระบวนการบริหารงานภายในต่างๆ เพื่อการเป็น True Partner ให้กับลูกค้าบนเส้นทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของลูกค้าที่ต่างกัน

– ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) โดยอัตราดอกเบี้ยที่คิดจะขึ้นกับความสำเร็จของเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเป้าหมายด้าน Sustainability อื่นๆ ของโครงการ ตลอดจนสินเชื่อโครงการพลังงานทดแทน รวมถึงผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินอื่นๆ เช่น การจัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (Sustainable Bond Underwriting) และ เงินฝากยั่งยืน (Sustainable Deposit) เป็นต้น  

– ลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารมุ่งเน้นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับตัวธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทความพร้อมและความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม อาทิ โซลูชันเพื่อธุรกิจรักษ์โลกเพื่อผู้ประกอบการ SMEs (SCB SME Green Finance)  โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจสำหรับธุรกิจโรงแรม ตลอดจนโครงการสินเชื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในภาคธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการให้ความรู้เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ให้สามารถทำได้จริง เกิดผลจริง และต่อยอดธุรกิจได้ ผ่านหลักสูตรระยะยาว งานสัมมนา และงาน Bootcamp รวมทั้งกิจกรรม Business Matching ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น สร้าง Ecosystem สำหรับเอสเอ็มอี ด้วยการความร่วมมือส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการทั้งหน่วยงานราชการ สมาคม สมาพันธ์ และ พันธมิตรทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

– ลูกค้าบุคคล ธนาคารนำเสนอสินเชื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์รักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลของธนาคารให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนผ่าน SCB EASY เป็นต้น 

3) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ Equator Principles (EP)  (EP adoption and implementation) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลักดัน ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สู่ ‘การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน’ เพื่อช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และเพื่อผลักดันการสนับสนุนแก่ลูกค้าและสังคมไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ริเริ่มการนำ Equator Principles (EP) ซึ่งเป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่นำมาตรฐานสากล Best Practices มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการให้สินเชื่อในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการประเมินโครงการตามหลักการ EP ไปแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท 

นายกฤษณ์กล่าวเสริมว่า “ความยั่งยืนของไทยพาณิชย์เราเริ่มมาแล้วร้อยกว่าปี และสิ่งที่เราทำในวันนี้ คือการส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานได้อยู่ต่อไปอีกร้อยปี เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้า ผู้คนจะต้องดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ธุรกิจจะต้องเติบโตต่อไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยพาณิชย์มุ่งมั่นเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับพันธมิตรส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นทางการเงิน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมได้อยู่ อย่าง ยั่งยืน” 

  ทั้งนี้ การจัดงานแถลงข่าว SCB Live Sustainably ครั้งนี้ ไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแรกในประเทศไทยที่จัดขึ้นในรูปแบบ Net Zero Event มีวัตถุประสงค์ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์จากการจัดงานด้วยการดำเนินกิจกรรมภายในงานในรูปแบบคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทะเบียนและการสื่อสารในระบบดิจิทัล เลือกใช้วัสดุรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ในการจัดงาน การจัดอาหารและเครื่องดื่มด้วยบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแนะนำการเดินทางด้วยระบบสาธารณะ โดยมีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ที่ปล่อยจากการจัดงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เพิ่มความถูกต้องด้วยการตรวจสอบจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ และทำการซื้อคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้มาชดเชยเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจริงในงาน ธนาคารขอขอบคุณที่ท่านเป็นส่วนหนึ่งในการ อยู่ อย่าง ยั่งยืน 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เตรียมเคาะแจกเงิน ชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท 

“อนุกูล” รองโฆษกรัฐบาล เผย การประชุม นบข. 25 พ.ย.นี้ เตรียมเคาะมาตรการช่วยเหลือเกษตรไร่ละ 1,000 บาท

ยัน แจกเงินหมื่น เฟส 2 ไม่ได้หวังผลการเมือง

ยัน แจกเงินหมื่น เฟส 2 ไม่ได้หวังผลการเมือง เป็นไปตามระยะเวลาที่เหมาะสม  ส่วนเงินหมื่นเฟส 3 ระบบเสร็จในเดือนมีนาคม 2568   

ธอส. รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ

ธอส. รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้สนับสนุนโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จดทะเบียนธุรกิจใหม่ 10 เดือน แตะ 7.7 หมื่นราย

จดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน แตะ 7.7 หมื่นราย โตขึ้น 2.18% คาดจัดตั้งทั้งปี 67 ทะลุ 9 หมื่นราย