กองทุนรวมวายุภักษ์ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย

Date:

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องกองทุนวายุภักษ์

ด่วนที่สุด

วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง  กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย

เรียน  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 

 ตามที่กระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ 

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย จึงขอให้ข้อมูลมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของท่าน ดังนี

๑. ประวัติกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑

ปรากฏในข่าว The Standard ว่า กองทุนวายุภักษ์ ๑ จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นกองทุนรวมพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐขณะนั้น และเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน โดยแบ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) และประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) 

ต่อมาในปี ๒๕๕๖ บริษัทจัดการได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ข้อมูล ณ วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๗ กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนแบ่งออกเป็นประเภทหลักทรัพย์ต่างๆ ตามข้อมูล ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๗ สัดส่วนการลงทุนหลักคือ หุ้นสามัญ ร้อยละ ๘๘.๓๖ ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ ๗.๐๑ ที่เหลือเป็นตั๋วเงินคลัง เงินฝากธนาคาร ฯลฯ

๒. หนังสือชี้ชวน

ปรากฏข่าวในสำนักข่าวมติชน หนังสือชี้ชวนระบุว่า 

ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับสิทธิในการจ่ายเงินปันผล จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และอัตราสูงสุดร้อยละ ๙ ต่อปี ตลอดระยะเวลาการลงทุน ๑๐ ปีแรก และผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่กองทุนมีมูลค่าลดลง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) 

ส่วนผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะถูกคำนวณจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน หักลบด้วยผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. อาจไม่ได้รับเงินปันผลหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

เงื่อนไขดังกล่าวจึงมีผลดังนี้

(ก)   ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และโดยกองทุนฯ เป็นผู้รับประกันไม่ขาดทุนเงินต้น ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่งในวันนี้อยู่ที่ร้อยละ ๒.๕๖๔ ต่อปี จึงชัดเจนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้เปรียบผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) 

(ข)   ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้รับผลตอบแทนต่อเมื่อหลังจากหักผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปเสียก่อน และทำให้โอกาสได้รับคืนเงินต้นลดลงเนื่องจากต้องหักการจ่ายเงินคุ้มครองเงินต้นแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปเสียก่อน จึงชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้เปรียบผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

๓. การฝ่าฝืนกฎหมาย

(ก)   เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้ประโยชน์โดยมีการประกันผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี (no downside) โดยยังมีสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย (only upside) โดยกำหนดเพดานร้อยละ ๙ ต่อปีซึ่งสูงมาก 

และยังมีโอกาสได้กำไรส่วนทุน (capital gain) จากการลงทุนในหุ้น แต่กลับไม่ต้องรับความเสี่ยงขาดทุนเงินที่ลงทุนไป (capital loss) เพราะมีการค้ำประกันเงินต้น อันเป็นการได้เปรียบมากกว่านักลงทุนทั่วไป นอกจากนี้ นักลงทุนที่ได้รับประโยชน์อาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

(ข)   ส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) เป็นผู้ที่ถูกรอนสิทธิ โดยรายได้จะลดลง (income downside) เพราะต้องหักเงินที่ต้องชดเชยเพื่อให้ผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปจากผลกำไรประจำปีเสียก่อน 

รวมทั้งความเสี่ยงขาดทุนเงินที่ลงทุนจะสูงขึ้น (capital risk upside) เพราะต้องหักเงินที่ต้องชดเชยค้ำประกันเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ซึ่งอาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติออกไปเสียก่อน

(ค)   กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ดังนั้น กติกาตามหนังสือชี้ชวนครั้งนี้ จึงเข้าข่ายเป็นการที่กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐยินยอมรับการรอนสิทธิของตนเองเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ซึ่งอาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ โดยใช้ทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทเป็นเครื่องมือในการถ่ายเทผลประโยชน์ 

แต่ต้องไม่ลืมว่าทรัพยสิทธิในกองทุนฯ ที่เป็นของกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐนั้น เจ้าของที่แท้จริงก็คือประชาชนทั้งประเทศ 

(ง)   ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การที่กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐรอนสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ซึ่งอาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ (โดยถึงแม้เป็นคนไทยก็มีจำนวนเพียงหยิบมือเดียว เทียบกับการเอาทรัพยสิทธิดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม) นั้น 

อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยผิดหลักนิติธรรม (มาตรา ๓) เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ (มาตรา ๒๗) ไม่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นคนต่างชาติ (มาตรา ๕๐ (๒) , ๕๒) 

(ค)   ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ตามกฎหมายใดในปัจจุบันที่จะไปจุนเจือและรับประกันผลประโยชน์และเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติ 

ดังนั้น รัฐบาลของท่านจะต้องแก้ไขกฎหมายให้มีอำนาจนี้เสียก่อน 

ส่วนการออกแบบโครงการลงทุนที่มีผู้ถือหน่วยสองประเภท โดยผู้ถือหน่วยประเภทที่หนึ่ง (equity tranch) ยินยอมรอนสิทธิของตนเองให้แก่ผู้ถือหน่วยประเภทที่สอง (highly rated tranch) นั้น เป็นเรื่องที่กระทำได้ในเชิงธุรกิจถ้าให้ผลตอบแทนสูงขึ้นแก่ผู้ถือหน่วยประเภทที่หนึ่ง แต่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังกลับทำโครงการที่ยอมถูกรอนสิทธิโดยไม่ได้อะไรชดเชย เข้าข่ายเป็นการแจกเงินการกุศล เป็นการเอาทรัพยสิทธิของประชาชนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทไปทำให้เสียหาย

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า สถานการณ์ในตลาดหลักทรัพย์มิได้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นดังเช่นในปี ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้ง และการสร้างความเชื่อมั่นที่ตรงประเด็นก็คือกระทรวงการคลังควรให้ความสำคัญต่อธรรมาภิบาลในการบริหารบริษัทจดทะเบียน

จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ขอย้ำอีกครั้ง เรื่องแบงค์ชาติ คืออนาคตของชาติ

อดีตผู้ว่า ธปท. ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงค์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ

ทีดีอาร์ไอ เตือนการเมืองแทรกแซงธปท. 

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เตือนการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจ กระทบเศรษฐกิจเสียหาย

ผู้ประกันตนยื่นกู้ แห่ขอกู้สินเชื่อบ้าน ธอส.

ธอส. เผยผู้ประกันตน ยื่นขอสินเชื่อกับ ธอส.  ดอกเบี้ยต่ำ วันแรกเป็นจำนวนมาก กว่า 2,000 ราย

บมจ.ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้ง 3Q24 แกร่ง กำไรสุทธิพุ่งแตะ 87 ล้านบาท 

บมจ.ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้ง 3Q24 แกร่ง กำไรสุทธิพุ่งแตะ 87 ล้านบาท ส่งซิกปิดปี 67 เบี้ยรับรวมโตตามเป้า 10%