นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ด่วนที่สุด
วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗
เรื่อง การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจผิดกฎหมาย
เรียน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๗/ท ๔๙๒๗ เรื่อง การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ส่งคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาให้แก่ประธานรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตั้งแต่วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗ เป็นต้นไป โดยนโยบายที่ห้า คือเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ “กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ฯลฯ” นั้น
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจผิดกฎหมาย จึงขอแจ้งต่อท่าน ดังนี้
๑. การแจกเงินในรูปเงินสดอาจจะฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ม.9 วรรคสอง
รัฐบาลระบุวัตถุประสงค์ของนโยบายการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเนื่องจากเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวจะโอนมาจากโครงการงบประมาณอื่นโดยมิได้มีการยกเลิกโครงการงบประมาณเหล่านั้น ดังนั้น โครงการนี้จึงมีผลโดยอัตโนมัติเป็นการก่อหนี้ให้แก่ประเทศ ซึ่ง ม.9 วรรคสองบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาความคุ้มค่า
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการแจกเงินในโครงการส่วนที่จะแจกเป็นเงินสดนั้น รัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมการใช้เงิน ไม่ว่าในด้านพื้นที่ ด้านเวลา หรือด้านสินค้าและบริการ ไม่ว่ากรณีที่ผู้รับนำเงินไปเล่นพนัน หรือซื้ออุปกรณ์วัสดุที่นำเข้า ซึ่งพายุหมุนที่จะเกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจกลับจะไปเกิดใต้ดิน หรือในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแผ่วลง
นอกจากนี้ ผลทางบวกสุทธิในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดจากเงินหมุนเวียนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ก็ต้องหักลบด้วยผลทางลบที่เดิมจะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายในโครงการงบประมาณอื่นที่ถูกเลื่อนออกไป
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่า การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีผลน้อยกว่าโครงการประเภทที่บังคับให้การใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง ยังจะมีความคุ้มค่าอย่างชัดเจนหรือไม่
๒. โครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) อาจจะฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ม.๙ วรรคสาม
การแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งเป็นโครงการหาเสียงสำคัญที่สุดระดับเรือธงของพรรคเพื่อไทยนั้น นโยบายที่ห้าในเอกสารที่ท่านจะแถลงต่อรัฐสภาระบุว่า “จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ”
แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นแจกเป็นเงินสดโดยมีข่าวว่าในงวดแรกในรูปเงินสด ๑๐,๐๐๐ บาทเฉพาะแก่ผู้เปราะบาง ในงวดสองในรูปเงินสด ๕,๐๐๐ บาทและในรูปเงินดิจิทัล ๕,๐๐๐ บาทแก่บุคคลที่เหลือ
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมทำให้ประโยชน์ในการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลลดลงไป เหลือแต่ผลเป็นการเพิ่มความนิยมทางการเมืองให้แก่พรรคเพื่อไทยโดยอัตโนมัติ ซึ่ง ม.๙ วรรคสามห้ามมิให้กระทำกรณีถ้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า การแจกเงินที่มีผลเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลได้เพียงเล็กน้อย แต่มีผลเป็นการเพิ่มความนิยมทางการเมืองให้แก่พรรคเพื่อไทยเป็นสำคัญ เป็นการปฏิบัติตาม ม.๙ วรรคสาม อย่างไร
๓. เงินดิจิทัลที่จะแจกต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.เงินตราฯ ม.๙
ในการพิจารณาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) นั้น คณะรัฐมนตรีไม่สามารถพิจารณาอนุมัติแต่เพียงครึ่งๆ กลางๆ ให้แจกงวดแรกในรูปเงินสด ๑๐,๐๐๐ บาทเฉพาะแก่ผู้เปราะบาง แต่จำเป็นต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคในการแจกเป็นเงินดิจิทัล
เนื่องจากเงินดิจิทัลที่จะแจก ประชาชนผู้รับเงินดิจิทัลจะสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทั่วราชอาณาจักร ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าเงินดิจิทัลดังกล่าวจะมีสภาพเนื้อหาทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะมีอายุการใช้สั้นหรือยาวเท่าใด และไม่ว่ากระทรวงการคลังจะนำเงินไปหนุนหลังเต็มจำนวนหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.บ. เงินตราฯ ม.๙ บัญญัติให้ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีคลังเสียก่อน ซึ่งตามขั้นตอนปกติจะต้องยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีจึงจะต้องสอบถามให้แน่ใจก่อนว่า กระทรวงการคลังได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และเงื่อนไข ในการจะอนุญาตตามกฏหมายนี้ หรือไม่
๔. ปัญหาในระบบการชำระเงิน
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าในการเปลี่ยนเงินดิจิทัลไปเป็นเงินสดนั้น จะต้องดำเนินการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จากระบบเงินดิจิทัลไปยังระบบคอมพิวเตอร์ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ที่ผู้รับมีบัญชีเงินฝาก และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยมีหนังสือเตือนให้รัฐบาลพิจารณาความเสี่ยงในประเด็นนี้ให้รอบคอบแล้ว
นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย ม. ๒๘/๑๑ – ๒๘/๑๒ ก็บัญญัติให้มีคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลและระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดจนดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ
คณะรัฐมนตรีจึงจะต้องสอบถามให้แน่ใจก่อนว่า กระทรวงการคลังได้หารือคณะกรรมการระบบการชำระเงินและธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเคลียร์ปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการเชื่อมระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างระบบงินดิจิทัลกับธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารให้ปลอดภัย หรือไม่
๕. ความยุ่งยากในการเปิดบัญชีเพื่อรับเงินดิจิทัล
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ในการเปิดบัญชีเพื่อรับเงินดิจิทัล ชาวบ้านแต่ละคนจะต้องกำหนดกุญแจส่วนตัว (private key) ซึ่งเงินดิจิทัลในระบบบล็อกเชนปัจจุบันใช้กันเป็นอักษรอังกฤษตัวเล็กผสมตัวใหญ่สลับกับตัวเลข ตัวอย่างกรณีสำหรับบิตคอยน์ยาว ๕๒ ตัว สำหรับอีธีเรียมยาว ๖๔ ตัว
และชาวบ้านจะต้องเก็บ private key ไว้เป็นความลับ เพราะถ้าผู้อื่นใดล่วงรู้ ก็จะสามารถเข้าบัญชีนี้ได้เอง ส่วนถ้าทำ private key สูญหาย ก็จะไม่มีใครที่สามารถเข้าไปใช้บัญชีดิจิทัลวอลเล็ตนั้นได้อีกเลย
คณะรัฐมนตรีจึงจะต้องสอบถามให้แน่ใจก่อนว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมรับมือกรณีชาวบ้านทำ private key สูญหายซึ่งจะทำให้ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัลได้ รัฐบาลยังจะต้องเยียวยา หรือไม่ และในขณะเดียวกัน กรณีเช่นนี้ จะมีวิธีเอาเงินดังกล่าวกลับคืนให้งบประมาณ หรือไม่ อย่างไร ถ้าเอาคืนงบประมาณไม่ได้ ผู้ใดต้องรับผิดชอบ
๖. ความล่าช้าในการยืนยันผ่านรายการสำหรับเงินดิจิทัล
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า การโอนเงินดิจิทัลที่ใช้ระบบบล็อกเชนนั้นจะใช้เวลานานในการยืนยันว่ารายการผ่านโอนแล้วเสร็จ กรณีบิตคอยน์ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๑๐ นาที และหลายกรณีต้องรอเป็นชั่วโมง ดังนั้น การใช้ระบบบล็อกเชน ถึงแม้จะใช้อยู่เบื้องหลัง แต่ก็อาจจะมีอุปสรรคความล่าช้าในการยืนยันรายการ
คณะรัฐมนตรีจึงจะต้องสอบถามให้แน่ใจก่อนว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมรับมือปัญหานี้ หรือไม่ อย่างไร
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าคณะรัฐมนตรีไม่สามารถพิจารณาการแจกเงินเป็นส่วนๆ (piecemeal) แต่จะต้องเรียกให้มีการนำเสนอข้อมูลวิธีปฏิบัติเต็มทั้งโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นเงินดิจิทัลอย่างรอบคอบ
เพราะถ้าหากภายหลังปรากฏว่าไม่สามารถแจกเป็นเงินดิจิทัลได้ ค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการพัฒนาระบบงานจะเป็นเรื่องสูญเปล่า ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติงานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะต้องร่วมกันรับผิดชอบชดใช้คืน
ข้าพเจ้าจึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเพื่อประกอบการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป และเพื่อโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง