นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาววิวรรณ ศรีรับสุข ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต แคนาดา ถึงการเติบโตและความท้าทายของสินค้าเครื่องดื่มในแคนาดา และโอกาสในการส่งออกเครื่องดื่มของไทยเข้าสู่ตลาดแคนาดา โดยเฉพาะเครื่องดื่มสมุนไพร ที่เป็นสินค้าดาวรุ่งและมีแนวโน้มที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลว่า ผู้บริโภคในแคนาดา มีความต้องการสินค้าเครื่องดื่มที่หลากหลายมากขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มเครื่องดื่มผสมวิตามิน น้ำที่มีก๊าซ คอมบูฉะ และเครื่องดื่มโซดาใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนของสินค้ามากขึ้น โดยผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ปราศจากน้ำตาล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีความต้องการของสินค้าที่ได้การรับรองว่าเป็นสินค้าฮาลาล และโคเชอร์ ซึ่งมีข้อกำหนดตามหลักศาสนาอิสลามและยิวเพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่สำคัญในแคนาดา ทูตพาณิชย์ให้ข้อมูลว่า มี 4 ทิศทาง คือ
1.ผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มขับเคลื่อนด้วยฟังก์ชัน ที่ตอบสนองความต้องการมากกว่าความสดชื่น ความกระหายน้ำ แต่มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ เสริมภูมิคุ้มกัน ให้พลังงาน และช่วยควบคุมอารมณ์
2.การหลีกเลี่ยงสารเติมแต่งและสารเคมี เช่น Ginger Beer และ Sparkling Grapefruit ที่ปราศจากสารกันบูดและน้ำตาลเทียม
3.คอมบูฉะ โดยมีแนวโน้มและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาด ผู้ผลิตคอมบูฉะกำลังทดลองรสชาติใหม่ ๆ ด้วยการผสมผสานกับผลไม้ สมุนไพร หรือเครื่องเทศพิเศษ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่หลากหลาย และมีการเสริมฟังก์ชันด้วยโปรไบโอติกส์ วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แบรนด์ Artizen จากเมือง Perth รัฐออนแทริโอ เปิดตัวสินค้า Orange Turmeric brew เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลักเป็นส้มและขมิ้น
และ 4.การรวมกันของคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น การรวมรสชาติและประโยชน์สุขภาพจากเครื่องดื่มหลายประเภท เช่น คอมบูฉะ sparkling water และน้ำดื่มวิตามิน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น
“จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในแคนาดามีความต้องการที่เปลี่ยนไปและมีความซับซ้อนมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในตลาดสินค้าเครื่องดื่ม โดยทุกวันนี้ผู้บริโภคมองหาสินค้าเครื่องดื่มที่มากไปกว่าเรื่องรสชาติ แต่ให้ความสำคัญถึงคุณประโยชน์ของสินค้าเครื่องดื่ม การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การปรับอารมณ์การหลีกเลี่ยงน้ำตาลและสารเคมี ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความสำคัญกับการรับรองสินค้าฮาลาล หรือโคเชอร์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจมีโอกาสในการนำเสนอ เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรของไทย โดยใช้จุดแข็งคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรเมืองร้อน (พืชที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ในแคนาดา) นำเสนอคุณสมบัติ ประโยชน์ต่าง ๆ ของสมุนไพรไทย พัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทย เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ อาจต้องมีการทำการตลาดสร้างการรับรู้คุณประโยชน์สรรพคุณของสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่อง และควรมีผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อรับรองสรรพคุณของสมุนไพรไทยจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในการสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือของสมุนไพรไทยในระดับนานาชาติ ก็จะทำให้มีโอกาสในการส่งออกได้มากขึ้น” นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
… กันยายน 2567