ธปท. ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยสูงและเสียมากขึ้น

Date:

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว สุนทรพจน์งานสัมมนาวิชาการ ธปท. ประจำปี 2567 หัวข้อ “หนี้: The Economics of Balancing Today and Tomorrow” ว่า ทุกวันนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ต่อ GDP ซึ่งมาพร้อมกับภาวะการเงินของครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบ มีปริมาณหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่มีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ ครัวเรือนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ที่ต้องก่อหนี้ในช่วงที่ขาดรายได้จากวิกฤตโควิด กำลังเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้เนื่องจากรายได้อาจยังไม่ฟื้นตัวดี ในขณะที่มีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ

นอกจากนี้ เมื่อมองระดับประเทศ กำลังประสบปัญหาการลงทุนที่ต่ำต่อเนื่องมายาวนาน การลงทุนโดยรวมของไทยจากที่เคยโตเฉลี่ย 10% ต่อปีก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 เหลือเพียง 2% ต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในภาคอุตสาหกรรมไทย มีบริษัทเพียงไม่ถึง 3% เท่านั้นที่ลงทุนใน R&D ทำให้การลงทุนในด้านนี้ของไทยยังต่ำเพียงประมาณ 1% ของ GDP เทียบกับเกาหลีใต้ที่สูงถึง 5% ของ GDP 

ขณะที่มองไปในระดับโลก ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อย และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหตุการณ์เหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO: World Meteorological Organization) ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ต้นตอของ “ปัญหาหนี้” อาจแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือจากตัวปัจเจกและจากสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของปัจเจก ดังนั้น ทางแก้ “ปัญหาหนี้” จึงจำเป็นต้องประกอบไปด้วยการแก้ในทั้งสองส่วนนี้ เช่นในส่วนของปัจเจก กำหนดให้การออมเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ในส่วนของสภาพแวดล้อม ต้องเร่งปรับแก้กฎ กติกา แก้ความล้มเหลวของตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำไปสู่การ “สร้างหนี้” เช่น การทำให้ต้นทุนของธุรกิจสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงต่อสังคมมากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจ และเสริมสร้างให้ระบบการเงินทำงานได้ดีขึ้นเพื่อช่วยให้คนและธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน

นอกจากนี้ ในด้านสังคม ต้องลงทุนในทรัพยากรมคน ที่เป็นทรัพยากรหลักของประเทศ มีความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องกังวลถึงปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่ด้านการเมือง ต้องผลักดันให้เกิดระบบถ่วงดุลที่ดี ที่จะทำให้นโยบายสาธารณะในด้านต่าง ๆ เป็นไปโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างระยะสั้นและระยะยาว 

ผู้ว่าการ ธปท.​ กล่าวว่า ธนาคารกลางทั่วโลก มีพันธกิจที่คล้ายคลึงกันคือ ไม่เพียงต้องการเห็นเศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องเสริมสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งต้องอาศัยเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ 

“การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ โดยลดดอกเบี้ยให้ต่ำทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วระยะสั้น แต่มักต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ และอาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจจากการก่อหนี้เกินตัวหรือพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาวหรือนำไปสู่วิกฤตร้ายแรงได้” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า หน้าที่ในการ “มองยาว” ของธนาคารกลางจึงต้องมาพร้อมกับอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว หลาย ๆ ครั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้างและย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอก็อาจทำให้เสียหลักการของการ “มองยาว” ได้

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการในหลาย ๆ ด้านเพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่คำนึงถึงเสถียรภาพเป็นสำคัญ โดยใช้ policy mix ที่เหมาะสม รวมถึงการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันต้องไม่เอื้อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงเชิงระบบ การออกมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อยกระดับมาตรฐานของสถาบันการเงินให้มีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ตลอดวงจรของการเป็นหนี้ และส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีวินัยทางการเงิน อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน และการพัฒนาระบบการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อสนับสนุนครัวเรือนและธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในโลกยุคใหม่

Share post:

spot_img

Related articles

ขึ้นค่าแรง 400 บาท ล่มแล้วล่มอีก

ประชุมขึ้นค่าแรง 400 บาท ล่มแล้วล่มอีก องค์ประชุมไม่ครบ นัดถกรอบใหม่ 24 ก.ย. นี้

ก.ล.ต. – ADB จัดงานสัมมนาให้ความรู้ด้านการเงิน

ก.ล.ต. ร่วมมือกับ ADB จัดงานสัมมนาให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ก.ล.ต. หนุนบริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ 

ก.ล.ต. หนุนบริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ  และแนวทางอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม (shelf filing) เพื่อรองรับการระดมทุนของอุตสาหกรรม soft power ส่งเสริมเศรษฐกิจ

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427