นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567) พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ (ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ) มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงที่ร้อยละ 16.8 1.2 และ 1.5 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8
สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงใน 6 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ภาพรวมการปล่อยก๊าซ CO2 แยกรายชนิดเชื้อเพลิง รวมทั้งสิ้น 121.9 ล้านตัน CO2 ซึ่งลดลงจากทุกชนิดเชื้อเพลิง โดยน้ำมันสำเร็จรูป มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 52.9 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 1.1 ก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 40 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 0.3 และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 28.9 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 41.5 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 1.2 ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 25.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 16.8 ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 48.1 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 6.7 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานอยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) ประเทศจีน และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ 2.29 2.34 2.79 และ 2.12 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ที่ 1.95 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้” นายวีรพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย