“พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย”

Date:

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมประจำปี 2567 เรื่อง “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty : Navigating the Future)” ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อให้คนไทยตระหนักและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์โลก และสามารถเล็งเห็นทางเลือกแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือหรือบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบด้านต่าง ๆ รวมถึงสามารถเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนั้น และนำมาสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปได้
อย่างทันท่วงที

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก

ในการประชุมดังกล่าว นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก : นัยต่อประเทศไทย” ประกอบด้วย 3 ส่วน สรุปได้ดังนี้

1.  สถานการณ์ในภาพรวมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก เลขาธิการฯ กล่าวว่า
ภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึง การสร้างพลังอำนาจระหว่างประเทศ โดยอาศัยปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้ง อาณาบริเวณ ประชากร ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากร และอื่น ๆ โดยนำมาใช้ในการต่อรองผลประโยชน์ของขั้วอำนาจต่าง ๆ ในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบความร่วมมือและขัดแย้ง อาทิ การทหาร ด้วยการใช้กำลังเข้ารุกรานหรือตอบโต้การรุกราน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือการคว่ำบาตรหรือการกีดกันทางการค้า การแลกเปลี่ยนหรือเข้าครอบงำอุดมการณ์ แนวคิดทางการเมือง วัฒนธรรม และความเชื่อต่าง ๆ การปกป้อง แบ่งปัน หรือแย่งชิงทรัพยากรต่าง ๆ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือปิดกั้นเทคโนโลยีจากประเทศฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น 

ทั้งนี้ World Economic Forum ได้แบ่งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ออกเป็นหลายระดับ ได้แก่ (1) ความขัดแย้ง คือ ปรากฏการณ์ที่รัฐ 2 รัฐมีข้อพิพาทหรือความเห็นที่ต่างกัน รวมถึงผลประโยชน์ที่ขัดกันในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม (2) ความตึงเครียด คือ สภาพการณ์ที่รัฐคู่กรณีวิตกกังวลต่อพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติตนได้ โดยประณามการกระทำอีกฝ่ายในเวทีระหว่างประเทศ หรือลดระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ (3) วิกฤตการณ์ คือ สภาพการณ์ที่คู่กรณีเตรียมใช้กำลังเพื่อเข้ายุติความขัดแย้ง หรือเพื่อป้องกันการใช้กำลังของอีกฝ่ายหนึ่ง และ (4) สงคราม เช่น กรณีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงปี 2565 เพราะทั้งสองฝ่ายมีขั้วอำนาจเป็นพันธมิตรหนุนหลัง  เกิดความกังวลว่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งหรือเกิดสงครามที่มีมากกว่าสองประเทศ ขณะที่ในปี 2567 สงครามระหว่างอิสลาเอล-ฮามาส ก็ส่งผลทำให้ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกดังกล่าวขยับสูงขึ้น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง

2.  การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกด้านต่าง ๆ ที่ผลต่อประเทศไทย ประกอบด้วย

(1)  สงครามการค้า เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ส่งผลให้สินค้าจีนสามารถเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกได้ ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีจำนวนมาก แรงงานที่มีค่าจ้างไม่สูง ส่งผลให้ประเทศจีนกลายเป็นโรงงานของโลกและเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลก ในปี 2563 เศรษฐกิจจีนก้าวขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนอย่างต่อเนื่อง และขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐจึงเริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าต่อจีนเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าและ
มุ่งจำกัดบทบาทของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และ
ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้เทคนิคและวิทยาศาสตร์ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันจีนได้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้ทางสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มบทบาททั้งในส่วนของการค้าและการผลิตโลก รวมถึงนโยบาย Belt and Road Initiatives

(2) สงครามเทคโนโลยี สหรัฐมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงไปยังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่งผลให้สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ก้าวไปสู่สงครามเทคโนโลยี โดยจีนตอบโต้โดยออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสินค้าทุนและวัตถุดิบที่มีต้นทางจากประเทศจีนและพันธมิตร อาทิ ทรายซิลิคอนที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงแร่หายาก
ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 

สงครามเทคโนโลยีขยายวงกว้างไปยังเทคโนโลยีในหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น EV Digital Telecom ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ ในส่วนของสหภาพยุโรปประกาศยุทธศาสตร์ EU New Industry Strategy ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่และปกป้องอุตสาหกรรม semiconductor ใน EU ด้านญี่ปุ่นก็ประกาศนโยบาย Economic Safety Security Strategies เพื่อป้องกันผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศโดยเฉพาะ นอกจากนี้เกาหลีใต้ได้สนับสนุนเงิน 23 ล้าน USD หนุนผู้ผลิตชิปในประเทศสำหรับการลงทุน วิจัยและพัฒนา ผลจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปรับตัวรองรับมาตรการต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้นจาก 2 ขั้วอำนาจ นำไปสู่การย้ายฐานการผลิตและการเร่งสร้างฐานการผลิตใหม่ การควบคุมสินค้าวัตถุดิบสำคัญ การป้องกันการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแย่งชิงและป้องกันการเคลื่อนย้ายบุคลากร รวมถึงการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน

(3)  การแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Decoupling) ข้อจำกัดจากมาตรการ
กีดกันต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ นำมาสู่แนวนโยบายที่ส่งผลเสียต่อการค้าเสรีในหลายประเทศ เมื่อรวมกับวิกฤติโควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน อิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลให้แนวโน้มการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ มุ่งย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ของบริษัท หรือไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิต และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในระดับโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก แต่เงินลงทุนจากจีนและประเทศกลุ่ม BRICS อื่น ๆ ปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่มีบางกลุ่มประเทศที่ยังคงมีมูลค่า FDI เพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม สะท้อนถึงการย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศดังกล่าว แต่ไทยเป็นประเทศที่ FDI ลดลง จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศไทยเพื่อที่จะสามารถรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว

(4) การแย่งชิงแรงงาน การแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต ทำให้เกิดการย้ายฐานอุตสาหกรรม
หลายประเทศต้องการแรงงานทักษะสูง นำไปสู่ Talent War จากรายงานข้อมูลดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Competitiveness Index : GTCI) ปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 134 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน จากผลการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้นและเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมของระบบการพัฒนาแรงงานเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ และยกระดับศักยภาพของแรงงานในประเทศมากขึ้น

(5)  วิกฤตผู้อพยพจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้มีการหลั่งไหลของผู้อพยพ
จากเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แม้ต่อมารัฐบาลจะมีการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ ทำให้จำนวนจำนวนผู้อพยพลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 84,405 คน ในปี 2566 จากจำนวน 90,940 คน ในปี 2565 การลี้ภัยของชาวเมียนมา นำมาซึ่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย
การลักขโมยและการก่ออาชญากรรมตามแนวชายแดน การลักลอบตัดไม้ โรคติดต่อ การค้ามนุษย์ ทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณในด้านการควบคุมดูแลผู้หนีภัยสู้รบที่มีจำนวนมากเหล่านี้

(6)  ความมั่นคงทางอาหาร สงครามและความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้พื้นที่การเกษตร ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการกระจายสินค้าอาหารและวัตถุดิบถูกทำลาย เกิดการย้ายถิ่นของประชากร ส่งผลต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อาหารในพื้นที่ใหม่เป็นไปอย่างยากลำบาก ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มต้นทุนและราคาสินค้าเกษตร และอาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในประเทศ ประเทศต่าง ๆ จึงอาจใช้อาหารเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ 

(7)  ความมั่นคงทางพลังงาน ภาวะสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและหลายประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานหลายด้านถูกทำลาย รวมทั้งด้านพลังงาน อาทิ ท่อขนส่งน้ำมัน ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ หรือการทำลายโรงไฟฟ้า ส่งผลให้มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิล  กระทบต่อการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน  สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีความผันผวน กระทบต่อประเทศไทยซึ่งพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศอย่างมาก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านพลังงาน วางกลยุทธ์ในการหาแหล่งทรัพยากรพลังงานใหม่ ๆ ในประเทศโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 

(8)  การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการพลังงานน้ำอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนอาศัยความได้เปรียบในฐานะประเทศต้นน้ำของลุ่มแม่น้ำโขงก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในช่วงปี 2538 – 2562 ส่งผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำ ที่เกิดปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง การขึ้นลงของน้ำผิดปกติ แอ่งน้ำลึกในแม่น้ำโขงตื้นเขินขึ้น ส่งผลกระทบต่อปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี รวมถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในจีน อาจทำให้น้ำในเขื่อนกลายเป็น “ระเบิดน้ำ’’นำไปสู่เสียงทักท้วงจากประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างเรียกร้องให้จีนคำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำด้วย

3.  ความท้าทายที่ไทยต้องบริหารจัดการเพื่อรับมือความผันผวนที่เกิดขึ้น มีหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่ (1) ด้านการค้าการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่ไหลสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และการไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนที่ กระทบผู้ประกอบการภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะ SMEs หรือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง (2) เทคโนโลยี ควรให้ความสำคัญกับ Platform ให้บริการ
ที่แยกจากกัน ที่จะส่งผลให้ต้นทุนการใช้บริการสูง รวมถึงประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ และช่องว่างทางดิจิทัล (3) แรงงานและทักษะ การพัฒนา ecosystem ที่เอื้อต่อการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับแนวโน้มทางเทคโลยีและตลาด รวมถึงการพัฒนาเมืองที่สามารถดึงดูด Talent
การรองรับแรงงานหรือผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมา และมีความมั่นคงทางอาหาร และ (4) ความมั่นคงทางพลังงาน ไทยมีสัดส่วนนำเข้าพลังงานที่สูง แม้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเกิดความมั่นคงทางพลังงาน ไทยจึงต่อเร่ง สร้างความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค และการพัฒนาพลังงานสะอาด และต้องใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีและ Critical Materials ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างชาญฉลาด 

หลังจากการนำเสนอของเลขาธิการ สศช. เป็นช่วงการเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อ

“การบริหารจัดการเพื่อรับมือผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก” ซึ่งเป็นการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับผลจากความผันผวนจากภูมิรัฐศาสตร์ในมิติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยและแนวทางการรับมือกับผลที่จะเกิดขึ้นนั้น รวมถึงแนวทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของประเทศ เพื่อการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในภาพรวมที่ส่งผลต่อโลกและประเทศไทย การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เหมาะสมเพื่อรับมือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ รวมถึงการแสวงหาโอกาสจากการที่ประเทศต่างๆ พยายามหาพันธมิตร เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ 

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นำเสนอแนวทางการรับมือผลกระทบจากมาตรการทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้าระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งกระทบต่อการค้าการลงทุน และการส่งออกของไทย การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลาดโลก รวมถึงการปรับตัวของภาคเอกชนเพื่อรับมือความผันผวนจากสถานการณ์ความขัดแย้งหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และท่าทีที่เหมาะสมของไทยในการรับมือสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อไทยในหลายด้าน เช่น ปัญหาแรงงาน ปัญหาอาชญากรรม และ 

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอผลจากภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกและของไทย และแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและยกระดับความสามารถในการผลิตทั้งด้านคุณภาพและปริมาณเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศไทยและสำหรับการแข่งขันในตลาดโลก โดยมี คุณชุติมา พึ่งความสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

Café Amazon ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ

Café Amazon ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศทั้ง CFP และ CFR จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำหรับผลิตภัณฑ์ 12 รายการ

กรุงเทพประกันภัย  9 เดือน ปี 2567 กำไร 2,290.7 ล้านบาท

กรุงเทพประกันภัย ประกาศผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2567 ทำกำไร 2,290.7 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับรวม 23,122.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2%

คดีอาญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3

สศช. รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2567 คดีอาญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3

ธอส. ร่วมแสดงความยินดีอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. ร่วมแสดงความยินดีอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน