ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การผลิตเหล็กในประเทศปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากอุปสงค์การใช้งานที่เพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้างเป็นหลัก แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากเหล็กจีนที่เข้ามาตีตลาดอย่างต่อเนื่อง
อุปสงค์การใช้งานเหล็กที่หดตัวทั้งในภาคการก่อสร้าง และการผลิตรถยนต์ในช่วงต้นปี 2024 ประกอบกับเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเหล็กในประเทศปี 2024 มีแนวโน้มหดตัว 12.7%YOY อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตเหล็กมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2025 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านตัน (+0.8%YOY) จากอุปสงค์การใช้งานที่ขยายตัว โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง ขณะที่เหล็กจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่ายังคงถูกนำเข้ามาใช้งานต่อไป กระทบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทย (%CapU) ที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นอัตราที่ถือว่าค่อนข้างวิกฤตในปัจจุบัน
นอกจากนี้การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเข้ามาทำการตลาดเชิงรุกของผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็กจากจีนยังเป็นปัจจัยกดดันให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่หนักกว่าเดิม สำหรับราคาเหล็กในปี 2025 ยังคงมีแนวโน้มที่ลดลงตามแนวโน้มราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงานส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กต้องหาแนวทางบริหารจัดการต้นทุน และการระบายสต็อกสินค้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาจำหน่ายสินค้าเหล็กที่มีโอกาสลดลง
การปรับตัวเข้าสู่ Carbon neutrality จะเป็นปัจจัยกดดันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยผู้ผลิตเหล็กที่สามารถลดการปล่อย GHGจะเป็นผู้ที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ส่งผลให้ทั่วโลกเริ่มมีการใช้นโยบาย และกฎระเบียบ
ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษี CBAM ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กของไทยเริ่มมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงได้มีการจัดทำข้อมูลการปล่อย GHG เพื่อสร้างโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของ Green supply chain ของอุตสาหกรรมเหล็ก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ Carbon neutrality