นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 2.25% ต่อปี เป็นปัจจัยหลักให้ลดน่าจะมาจากดังน้
1 ต้องเข้าใจว่าแบงก์ชาติมีเกณฑ์ในการพิจารณา 3 ส่วน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพตลาดเงิน
ในส่วนของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แบงก์ชาติมองปีนี้ขยายตัวใกล้เคียงที่เคยมองไว้ หรือโต 2.7% ในปี 2567 และ 2.9% ในปี 2568 (มองดีขึ้นในปีนี้จาก 2.6% แต่ลดลงจาก 3.0%ปีหน้า) โดยมองเศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการแจกเงินภาครัฐก็น่ากระตุ้นการบริโภค
2 ส่วนเงินเฟ้อมองว่าเฉลี่ยที่ 0.5%ปีนี้และ 1.2%ปีหน้า โดยเงินเฟ้อในระยะต่อไปน่ามาจากราคาอาหาร แต่เงินเฟ้อต่อไปยังต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างหรือการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน แต่เชื่อว่าน่าเข้ากรอบล่างได้ (กรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 1%-3%)
3 ซึ่งมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินให้น้ำหนักที่สุดคือเรื่องเสถียรภาพตลาดเงิน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งตอนนี้หนี้ครัวเรือนต่อรายได้เริ่มลดลง หรือหนี้เริ่มชะลอลง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหารายได้เติบโตช้า สินเชื่อขยายตัวชะลอลง เมื่อลดดอกเบี้ยก็น่าบรรเทาภาระหนี้ได้โดยไม่น่าทำให้ Household debt/GDP ขยายตัวไปอีก
นอกจากหลักเกณฑ์ทั้งสามแล้ว แบงก์ชาติยังจับตาค่าเงินบาทด้วย เพราะบาทที่แข็งค่าจะส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของผู้ส่งออกและกลุ่มท่องเที่ยว โดยหลังเฟดลดดอกเบี้ยมา บาทแข็งค่าแรงมาก การลดดอกเบี้ยของไทยพอช่วยประคองบาทให้มีเสถียรภาพและอ่อนค่าได้เล็กน้อย
แม้แบงก์ชาติจะสื่อสารให้ตีความว่าลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ แต่ผมมองว่าทำไมทำตอนนี้ทั้งๆที่เห็นหนี้ครัวเรือนทยอยลดได้จากสินเชื่อที่ขยายตัวต่ำ จึงมองว่าน่าเพราะภาครัฐไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือดิจิทัลวอล์เล็ตสะมากกว่า เพราะนั่นอาจเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อ แต่พอลดขนาดเงินและแจกเฉพาะกลุ่มเป้าหมายได้ ก็น่าสบายใจขึ้นจนลดดอกเบี้ยได้
นายอมรเทพ กล่าวว่า มองต่อไป ดอกเบี้ยขาลงเลยไหม ซึ่งแม้จะเซอร์ไพรส์ที่ลดรอบนี้ คิดว่าน่าลดรอบที่แล้ว แต่แบงก์ชาติสื่อสารเหมือนจะไม่ลดเพราะห่วงปัญหาหนี้ เลยคิดว่าคงไว้ก่อนแล้วค่อยลดเดือนธันวาคม มาตอนนี้ มองว่าดอกเบี้ยไทยน่าปรับลดลงต่อได้อีก และระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ต่ำ เงินเฟ้อหลุดกรอบล่าง สินเชื่อโตช้า บาทจะพลิกมาแข็ง และปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น สังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน ขาดการลงทุน น่าเห็นดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ปลายปีหน้า แต่กนง.ไม่น่าปรับลดลงในทันที น่าปรับลดครั้งเว้นครั้งก่อนหรือเว้นช่วงเพื่อดูการปรับตัวของเศรษฐกิจ และประเมินผลการลดดอกเบี้ย
มองต่อไป น่าเห็นการประสานงานด้านเศรษฐกิจของนโยบายการเงินและการคลัง แต่อย่าเพิ่งกังวลว่าการเมืองแทรกแซงนะครับ ผมว่าแบงก์ชาติน่ามีเหตุผลและยืดหยุ่นพอ
ส่วนลดดอกเบี้ยแล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นดีเลยไหม ขอตอบว่าไม่น่าใช่ จริงๆแล้วผมมองด้านลบกว่าที่แบงก์ชาติมอง คือมองปีนี้ขยายตัวเพียง 2.3% ต่ำกว่าที่แบงก์ชาติประเมินที่ 2.7% แม้ตัวสนับสนุนจะมาจากส่งออกและท่องเที่ยว แต่ที่น่าห่วงคือการบริโภคของคนรายได้น้อยได้แรงกระทบจากน้ำท่วม และปัญหาการลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอ ตัวเลข MPI ติดลบต่อเนื่องและการกระทบการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมทั้งภาคการก่อสร้างยังหดตัว ผมรอประเมินตัวเลข GDP ไตรมาสสามที่ทางสภาพัฒน์จะรายงานช่วงกลางเดือนหน้า ว่าจะสอดคล้องกับที่แบงก์ชาติมองที่ระดับ 3%หรือไม่ เพราะผมมองไว้เพียง 2.2%
หากเดือนหน้า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำ มาตรการรัฐยังไม่มีการแจกเงินขนานใหญ่อย่างที่กังวล และเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่วนการเลือกตั้งสหรัฐก็ไม่มีแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจโลก เราน่าเห็นการปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือการสื่อสารด้านดอกเบี้ยขาลงชัดเจนขึ้น