ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามอบนโยบายแก่กรมสรรพสามิต โดยมีอธิบดี คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย โดยต้องการให้กรมสรรพสามิตเป็นกลไกและรักษาสมดุลด้านภาษีระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ธรรมาภิบาล และรายได้การจัดเก็บ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ยานยนต์ : ใช้กลไกภาษีกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงใหญ่ รวมถึงการจ้างงาน โดยใช้ภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิต PHEV BEV และ FCEV ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ยังคงรักษาฐานการผลิตรถยนต์ ICE และ HEV ไว้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องกำหนดเวลาชัดเจน และให้แนวทางว่ากรมสรรพสามิตสามารถสูญเสียรายได้ในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว ซึ่งเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศได้
2. น้ำมัน : กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 6 ประเภท ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน โดยคำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเบื้องต้นกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ โดยต้องไม่ให้กระทบต่อราคาพลังงาน
3. สุขภาพประชาชน : ใช้กลไกภาษีเพื่อสนับสนุนการแพทย์เชิงป้องกัน ลดการบริโภคอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยดำเนินการจัดเก็บภาษีความหวานแบบผสมต่อเนื่อง และเข้าสู่เฟส 4 ตามกำหนดเวลา ให้กรมสรรพสามิตศึกษาพิจารณากลไกภาษีโซเดียมในสินค้าบางประเภทที่ไม่อยู่ในสินค้าควบคุม รวมทั้งภาษีไขมัน เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมและไขมัน ตั้งเป้าคนไทยลดบริโภคเค็มลง 30% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ต้องมีระยะเวลาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการปรับตัว
4. แบตเตอรี่ : ให้ศึกษาพิจารณาเปลี่ยนจากอัตราคงที่ 8% เป็นอัตราแบบขั้นบันได โดยคำนึงถึงปัจจัย Life Cycle และค่าพลังงานจำเพาะต่อน้ำหนัก รวมถึงชนิดของแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สะอาด อุตสาหกรรมรถยนต์ EV
5. บุหรี่ : ให้จัดเก็บภาษีแบบผสม โดยพิจารณาและศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว (Singler Rate) เพื่อลดการบิดเบือนกลไกราคา โดยให้พิจารณาปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสนับสนุนผู้เพาะปลูกใบยาสูบในประเทศด้วย รวมทั้งดำเนินการระบบตรวจ ติด ตาม บุหรี่ โดยใช้ระบบ QR Code ในบุหรี่ เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนทั้งระบบ พร้อมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่เพื่อมั่นใจได้ว่าเป็นบุหรี่ที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบโดยกรมสรรพสามิต
ดร. เผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) สะท้อนถึงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ภาษีเครื่องดื่ม ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8 ภาษีกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ (ไนต์คลับและดิสโกเธค) และภาษีสนามกอล์ฟ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ สำหรับการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ สูงขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 15.6 ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตขึ้นซึ่งในปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ 523,676 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากปีก่อน
นอกจากนี้ ด้านการปราบปรามนั้น ผลการปราบปรามเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 33,359 คดี สูงกว่าปีก่อนร้อยละ 28.1 เงินค่าปรับนำส่งคลังจำนวน 690.75 ล้านบาท โดยเกิดจากการที่กรมสรรพสามิตได้ยกระดับการทำงานเชิงรุกในด้านการปราบปรามทั้งระบบ ทั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สืบค้นในทุกช่องทาง รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกองค์กร เพื่อจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้สินค้าหนีภาษีหลุดลอด เพราะอาจเป็นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย จนส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตพร้อมขับเคลื่อนนโยบายและมาตรทางภาษีดังกล่าว ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการเดินหน้านโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เพื่อให้การดำเนินงานของกรมฯ สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม การปรับตัวที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยนำกลยุทธ์ EASE Excise มายกระดับการทำงานทั้งระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืนสืบไป