สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงาน ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2567 ไตรมาสสาม ปี 2567 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นทั้งจากคดียาเสพติด คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ ด้านการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนน มีการรับแจ้งผู้ประสบภัยสะสมรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 โดยเป็น การเพิ่มขึ้นของผู้บาดเจ็บสะสมและผู้ทุพพลภาพสะสม ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสมลดลง
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
1 การเฝ้าระวังการบริโภคดอกบัวสีน้ำเงิน เนื่องจากอาจกลายเป็นสารเสพติดชนิดใหม่ในไทย โดยในหลายประเทศขึ้นทะเบียนให้พืชชนิดนี้เป็นสารเสพติดผิดกฎหมาย
2 การหลอกลวงจากการทำบุญ หรือช่วยเหลือทางออนไลน์ ในปี 2566 พบผู้ถูกหลอกลวงโดยอาศัยความสงสารหรือความสัมพันธ์จำนวน 2.65 ล้านคน มูลค่าความเสียหาย 2.3 พันล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายถูกหลอกลวงจากการขอรับบริจาคช่วยเหลือหรือการระดมเงินการกุศล รวมถึงในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมมิจฉาชีพกระทำการหลอกลวงให้โอนเงินช่วยเหลือผ่าน QR Code หรือบัญชีม้า และการแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหลอกลวงให้ผู้ประสบภัยกรอกข้อมูลลงทะเบียนบนเว็บไซต์/ลิงก์ปลอม เพื่อรับเงินเยียวยา
และ 3 การให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะ แชร์ลูกโซ่ พร้อมทั้งการกำกับดูแลการชักชวนทางโซเชียลมีเดีย จากผลการศึกษาของ DSI ร่วมกับ สกสว. ในปี 2565 พบว่า ผู้เสียหายคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.0 ทราบหรือควรทราบอยู่แล้วว่าเป็นการลงทุน แบบแชร์ลูกโซ่ แต่ยังคงเลือกตัดสินใจลงทุนเนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูง นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังระบุว่าถูกชักชวนให้ลงทุนผ่านทางโซเชียลมีเดียหรืออินฟลูเอนเซอร์
การร้องเรียนผ่าน สคบ. และสำนักงาน กสทช. เพิ่มขึ้น และมีประเด็นที่ต้องติดตามเกี่ยวกับการระบาดของสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน มอก. และการรับมือกับอาหารปนเปื้อนสารเคมีอันตราย
ไตรมาสสาม ปี 2567 การร้องเรียนเกี่ยวกับผู้บริโภคในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.1 โดยทั้งการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่าน สคบ. และสำนักงาน กสทช. เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9.3 และร้อยละ 4.4 นอกจากนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ
1) การระบาดของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีมากถึง 3.7 แสนชิ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 6.3 เท่าตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายในระดับที่ยากต่อการรับผิดชอบ
และ 2) การรับมือกับอาหารไม่ปลอดภัยที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอาหารกลุ่มผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย อาทิ การปนเปื้อนของสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทเกินค่ามาตรฐานกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของสารพิษตกค้างที่ตรวจพบยังเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของไทยที่ยังไม่มีการควบคุมอีกด้วย