นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ได้เห็นชอบข้อเสนอ “การพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ และตน เป็นรองประธานคณะกรรมการ
สาระสำคัญของข้อเสนอดังกล่าว จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเด็กและเยาวชน ปรับฐานกลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นการให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าโดยไม่ต้องมีการคัดกรองรายได้ของครอบครัว (เดิมครัวเรือนต้องมีสมาชิกที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี) เพื่อให้ครอบคลุมและทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า ไม่ตกหล่น และขยายอายุของเด็กให้ครอบคลุม เริ่มจากเด็กในครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 6 ปี (เดิมตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี) ได้รับเงินในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน (เท่าเดิม) เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้ครอบครัวจะมีรายได้ลดลง
พัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย โดยปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อขยายระยะเวลาให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา เป็นเวลา 15 ปี รวมถึงการพัฒนาการการศึกษาทั้งในส่วนของหลักสูตร และการเรียน การสอนให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้นอีกทั้งในกรณีเด็กที่หลุดออกจากระบบในช่วงส่งต่อการศึกษา ควรมีสวัสดิการในการแนะแนวอาชีพและให้คำปรึกษา
กลุ่มผู้สูงอายุ ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได อายุ 60-69 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 850 บาท อายุ 80-89 ปี เดือนละ 1,000 บาท และตั้งแต่อายุ 90 ปีขึ้นไปเดือนละ 1,250 บาท เพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพของผู้สูงอายุในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งมีการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ของชุมชน และส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสม
กลุ่มคนพิการ ปรับเบี้ยความพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพเป็น 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการนำคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมและเป็นธรรม , การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพิ่มมากขึ้น และ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนพิการ
กลุ่มแรงงาน ยกระดับการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและขยายสิทธิประกันสังคมที่ตรงตามความต้องการของแรงงานนอกระบบ และการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ ยกระดับทักษะ เทคโนโลยีสารสนเทศและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัล เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบกิจการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด
สวัสดิการสำหรับครอบครัว พัฒนาแนวทางสวัสดิการบริการสนับสนุนครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับรูปแบบของครอบครัวที่แตกต่างกัน และออกแบบสวัสดิการที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของครอบครัวแต่ละประเภท เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเข้าถึง ได้รับสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น