ใกล้ถึงวันที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ โดยจะมีพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นบทบาทในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 ของประเทศ ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตามองท่าทีและนโยบายของเขาในหลากหลายประเด็นสำคัญ ซึ่งหลายเรื่องกลายเป็นหัวข้อที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการขู่ยึดคลองปานามา การควบคุมกรีนแลนด์ นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รวมถึงแผนการจัดตั้งกำแพงภาษีที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง
ไปจนถึงเรื่องที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์เคยออกมารายงานว่า ทีมงานของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้วางแผนถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทันทีภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งแผนดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของทรัมป์ที่มักวิพากษ์วิจารณ์ WHO อย่างรุนแรงมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีความล้มเหลวของ WHO ในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในครั้งนั้น (ปี 2563) เขาเคยประกาศจะถอนตัวจาก WHO มาแล้ว แต่แผนดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อโจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดีและนำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นสมาชิก WHO
แม้จะมีข้อกังวลว่าหากการถอนตัวครั้งนี้เกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อบทบาทของสหรัฐฯ ในการจัดการปัญหาสาธารณสุขระดับโลก รวมถึงทำให้ประเทศโดดเดี่ยวจากความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือโรคระบาด แต่นักวิจารณ์หลายรายเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะการทำงานของ WHO ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่มีประสิทธิภาพและยึดมั่นในแนวทางอนุรักษ์นิยมจนไม่สามารถปรับตัวรับมือกับปัญหาสาธารณสุขระดับโลกใหม่ๆ ได้
รายงานจากต่างประเทศระบุว่า WHO เต็มไปด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวและความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพราะการได้รับอิทธิพลอย่างมากจากผู้สนับสนุนทางการเงิน เช่น มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณถึง 770 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2020-2021 ซึ่งมากกว่าเงินที่รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุน WHO การพึ่งพาเงินทุนนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากบิล เกตส์ อาจได้รับประโยชน์จากโครงการวัคซีนที่ WHO สนับสนุน ทำให้องค์กรขาดความน่าเชื่อถือและวางลำดับความสำคัญผิดไปจากเป้าหมาย
นอกจากนี้ WHO ยังล้มเหลวด้านนโยบายและการบริหาร การจัดการวิกฤตโควิด-19 ของ WHO เผยให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพ เช่น การไม่สืบหาต้นตอของไวรัส และการชะลอข้อมูลสำคัญที่อาจช่วยชีวิตผู้คน นอกจากนี้ WHO ยังให้คำแนะนำที่ผิดพลาด เช่น การสั่งล็อกดาวน์ประเทศที่กลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และข้อบังคับเรื่องวัคซีนทดลอง ล้วนละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง
สำนักข่าว Politico ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 WHO ได้ถูกมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ เข้าแทรกแซงด้วยการจัดตั้งโครงการจัดหาวัคซีน เครื่องตรวจ และยาสำหรับประเทศรายได้น้อย และรายได้ปานกลางทั่วโลก โดยดำเนินการร่วมกับอีก 3 หน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร ภายใต้ชื่อ ACT-A แต่หน่วยงานที่เข้ามาร่วมในโครงการนี้ 2 หน่วยงานคือ Gavi, The Vaccine Alliance และ Coalition for Epidemic Preparedness Innovations (CEPI) ต่างก็ได้รับเงินสนับสนุนหลักจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ซึ่งในภายหลังโครงการนี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการที่จะส่งความช่วยเหลือไปยังประเทศที่ขาดแคลนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
WHO ยังคงใช้อำนาจอย่างไร้การตรวจสอบ และพยายามขยายอำนาจอย่างไร้ขอบเขตเพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่คลุมเครือ เช่น “ข้อมูลเท็จ” หรือ “คำพูดแสดงความเกลียดชัง” อำนาจดังกล่าวละเมิดกระบวนการประชาธิปไตยของนานาประเทศ และถือเป็นการคุกคามอธิปไตยของแต่ละชาติ เพราะอำนาจของ WHO ในการออกประกาศและแนะนำประเทศสมาชิกในช่วงวิกฤต ทำให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องยอมจำนน การแทรกแซงเช่นนี้บั่นทอนความสามารถของประเทศในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนตนเอง
ปัจจุบันเกิดคำถามว่า WHO ยังเป็นองค์กรสุขภาพที่เป็นกลางและยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (evidence based policy) อยู่หรือไม่ หรือกลายเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยการเมืองภายในองค์กร ถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้ให้ทุนสนับสนุนและเอื้อประโยชน์พิเศษให้ WHO เปลี่ยนจากองค์กรดูแลสุขภาพประชาคมโลกไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่เป็นผู้บริจาคเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาล
สำหรับประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเช่นประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญและเคารพบทบาทของ WHO เป็นอย่างมาก โดย WHO มีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษาและวางกรอบนโยบายด้านสาธารณสุขของไทย แม้จะมีข้อกำหนดว่าหน่วยงานระหว่างประเทศไม่สามารถละเมิดอธิปไตยของประเทศสมาชิกได้ แต่ WHO ยังคงพยายามเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแนะนำแนวทางและนโยบายต่าง ๆ
ตัวอย่างหนึ่งคือ คำแนะนำเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการประชุมนานาชาติเมื่อต้นปี 2567 ที่ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลไทยเพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในสื่อออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงกิจกรรมที่มีเด็กเข้าร่วม นอกจากนี้ยังเสนอให้ควบคุมเทคนิคการตลาดใหม่ ๆ บนโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชน แม้ว่าเรื่องการโพสต์ภาพเบียร์หรือแก้วเบียร์บนโซเชียลของประชาชนไทยยังคงเป็นประเด็นถกเถียง และบริบทในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดเท่านี้
ในกรณีของบุหรี่ไฟฟ้า WHO ยังมีบทบาทที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้รัฐบาลไทยคงกฎหมายห้ามขายและนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการส่งจดหมายสนับสนุนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ออกแถลงการณ์เน้นย้ำถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพ ซึ่งขัดแย้งกับผลการศึกษาจากหลายประเทศทั่วโลกซึ่งรวมถึงการศึกษาในสหรัฐอเมริกาเองด้วยที่ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน รวมถึงส่งตัวแทน WHO เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และเข้าพบกับนักการเมืองของไทยในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสนับสนุนการคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในไทย
แม้ในอดีต บทบาทของ WHO จะเคยเป็นที่ยอมรับในด้านการกำหนดนโยบายสาธารณสุขระดับโลก แต่เมื่อภารกิจหลักของ WHO กำลังเบี่ยงเบนจากการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทั่วโลก กลายเป็นเครื่องมือของผู้สนับสนุนเงินทุนในการรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว และพยายามเข้าไปแทรกแซงนโยบายของประเทศอื่นด้วยความคิดแบบอุดมคติ บวกกับแนวทางอนุรักษ์นิยมที่ไม่ทันกับบริบทของสังคมยุคใหม่ นี่น่าจะเป็นประเด็นให้สังคมไทยต้องเริ่มพิจารณาว่า WHO ยังคงมีความน่าเชื่อถืออยู่หรือไม่ หรือถึงเวลาที่ต้องปฎิรูปแนวคิดและการทำงานของ WHO ขนานใหญ่เพื่อตอบสนองต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว