Krungthai COMPASS ในแต่ละปี Food Loss and Food Waste ของโลกมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ผลิตได้ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 4.5 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 6-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ขณะที่การนำ Food loss มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือที่เรียกว่า Upcycling Foods กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยหนึ่งในแนวทางนั้น คือ การผลิตโปรตีนทางเลือกจาก Mycoprotein
การต่อยอดไปสู่ Mycoprotein จะช่วยให้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 26% จากเดิมที่อยู่ที่ราว 7% นอกจากนี้ หากไทยนำ Food Loss and Food Waste ที่ตั้งเป้าหมายจะลดในแต่ละปี และเป็นสัดส่วนที่ไทยมีศักยภาพในการนำมา Recycle ได้ซึ่งอยู่ที่ราว 5% ของปริมาณFood Loss and Food Waste ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแต่ละปีมาใช้ในการผลิต Mycoprotein ทั้งหมด จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 5.2% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก food Loss and Food Waste ของไทย ซึ่งอยู่ที่ 23.1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
Krungthai COMPASS แนะนำ ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ตลาดนี้ต้องมีการสร้างการรับรู้ทางด้านคุณประโยชน์ และสร้างความเชื่อมั่นของสินค้านี้ให้แก่ผู้บริโภครวมทั้งต้องพัฒนาระบบการจัดการ Food Loss and Food Waste เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในในผลิต Mycoprotein ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมนี้