ดร.เอกชัย เรืองรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้รับการร้องเรียนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำตาลไทยว่า ได้รับความเดือดร้อนจากกรณี หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารส่งออก-นำเข้าของจีน หรือ The Food Safety Bureau of The General Administration of Customs of The People’s Republic of China : GACC ออกประกาศระงับการนำเข้าสินค้าประเภทน้ำตาลจากประเทศไทย 2 รายการ ได้แก่ น้ำเชื่อม และน้ำตาลผสมล่วงหน้า เนื่องจาก GACC อ้างว่า ได้รับการร้องเรียนว่า โรงงานผู้ผลิตน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมบางแห่งของไทยมีสุขอนามัยไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ดร.เอกชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเอกชนผู้ส่งออกได้รับความเดือดร้อนมากเนื่องจากส่งออกน้ำเชื่อมลอยเรืออยู่ที่น่านน้ำประเทศจีนมีมูลค่าถึง 400 ล้านเมื่อถูกจีนแบนส่งน้ำเชื่อมไม่ได้ทำให้ปัจจุบันมีความเสียหายสูงถึง 1,000 ล้านแล้ว เนื่องจากสินค้ามีอายุประมาณ 60 วัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเลยมา 42 วันแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ กรณีนี้เคยเกิดกับประเทศเวียดนามแต่รัฐบาลเวียดนามใช้เวลาเพียง 10 วันในการแก้ไขปัญหา จึงอยากถามว่ารัฐบาลไทยมัวทำอะไรอยู่ อย่างไรก็ตามธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงถึง 38,000 ล้านบาท/ปี และสร้างภาษีจากรายได้ส่งเข้ารัฐถึงปีละกว่า 1,200 ล้านบาท จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศตกต่ำเป็นประวัติการณ์จาก 770 เหรียญต่อตัน ปัจจุบันเหลือเพียง 427เหรียญต่อตันเท่านั้น และทำให้ส่งผลกระทบชาวไร่อ้อยถึง 400,000 ครัวเรือน
ดร.เอกชัย กล่าวว่า ตนเคยตั้งกระทู้ถามรัฐบาลแต่เรื่องก็ยังเงียบปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลสินค้าเป็นรายประเภท เพื่อให้การส่งออกสินค้าของประเทศไทยมีประสิทธิภาพและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปไม่มีอะไรเกิดขึ้น
“กรณีนี้จีนประกาศระงับการนำเข้าน้ำเชื่อมไทย ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2567 แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ผมจึงต้องถามรัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องว่า มัวแต่ทำอะไรอยู่ หรือมันไม่ใช่นโยบายที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีประกาศบนเวทีหาเสียงถึงไม่ขยับ ผมสังเกตว่า อะไรที่นายทักษิณประกาศเมื่อมานักข่าวมาถามรัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็มีคำตอบตามมาทันที อย่างล่าสุด นายทักษิณ พูดบนเวทีปราศรัยที่จ.มหาสารคามถึงการทำแซนด์บ็อกซ์ สำหรับการใช้เงินดิจิทัล และบิตคอยน์ ในจ.ภูเก็ต วันต่อมาพอนักข่าวไปถาม นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ก็มีคำตอบให้ทันทีว่า เรื่องนี้กระทรวงการคลังกำลังหารือภายในแล้ว เมื่อได้ข้อสรุปจะไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.เอกชัยกล่าว