นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
เลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์
ในปี 2566 ผม คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน และหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แถลงที่ม.ธรรมศาสตร์
เราเรียกร้องให้เลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ในสัมมนาพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ย้ำประเด็นนี้ (ดูรูป)
วันนี้มีข่าว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งคำถาม ทำไมไทยต้องอ้างอิงราคาสิงคโปร์
ถามว่า การอ้างอิงราคาสิงคโปร์ มีข้อเสียต่อผู้บริโภคอย่างไร?
มี 2 ข้อ
1 ทำให้โรงกลั่นน้ำมันในไทย สามารถบวกค่าใช้จ่ายทิพย์ เช่น ค่าเรือ ค่าประกันภัย ฯลฯ ทั้งที่ไม่ได้จ่ายจริง จนมีกำไรมากเกินไป
ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ
รัฐบาลในอดีตใช้สูตรนี้ เพราะต้องการให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้พอใช้งาน จึงให้มีกำไรสูงเป็นพิเศษ
แต่ในปัจจุบัน กำลังผลิตโรงกลั่นในไทยเกินการใช้ในประเทศไปแล้วประมาณ 1 ใน 5
จึงไม่จำเป็นต้องให้กำไรสูงพิเศษเช่นเดิม
2 มาตรการ ESG สู้โลกร้อน บีบตะวันตกไม่ให้สร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ ดังนั้น บ่อยครั้ง ค่าการกลั่นน้ำมันต่อลิตรในตลาดโลกกระโดดสูงชั่วคราว
โรงกลั่นสิงคโปร์ก็จะบวกกำไรชั่วคราวนี้ เข้าไปในราคา
โรงกลั่นในไทยจึงได้กำไรชั่วคราวไปด้วย ทั้งที่ต้นทุนเท่าเดิม
ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบอีกด้านหนึ่ง
ถามว่า การอิงราคาสิงคโปร์ มีข้อดีต่อผู้บริโภคอย่างไร?
ตอบว่า ไม่มีข้อดี แต่มีข้ออ้างว่า ดีต่อตลาดน้ำมันในประเทศ
ข้ออ้างที่หนึ่ง นักวิชาการมักอ้างว่าข้อมูลราคารายวันของสิงคโปร์ทำให้ทราบราคาอย่างละเอียดในแต่ละวัน
ผมแย้งว่า ไทยไม่ต้องอิงสิงคโปร์ ก็ยังเปรียบเทียบราคาไทยกับราคาสิงคโปร์ได้อยู่แล้ว
ไทยจะวินิจฉัยกันว่า ราคาที่สูงกว่าหรือต่ำกว่านั้นเหมาะสมหรือไม่ ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว
อย่าไปสับสนเรื่องข้อมูล กับการอ้างอิงราคา
ข้ออ้างที่สอง นักวิชาการมักอ้างว่าการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ จะช่วยให้ราคาไทยสะท้อนตลาดโลกได้อย่างสมดุล
ผมแย้งว่า วิธีเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคไทย คืออิงเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเท่านั้น ไม่ใช่ไปอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก
เนื่องจากจะเอื้อกำไรพิเศษให้แก่โรงกลั่นในไทย ดังที่อธิบายแล้วข้างต้น
ถามว่า ถ้าไม่อ้างอิงราคาสิงคโปร์ ไทยควรอ้างอิงราคาใด?
ตอบว่า ควรกำหนดเพดานสูงสุดสำหรับค่าการกลั่นต่อลิตร โดยปรับทุก 3 เดือน
ทั้งนี้ นักวิชาการมักอ้างว่ามีปัญหา
ปัญหาที่หนึ่ง โรงกลั่นน้ำมัน 5-6 แห่ง แต่ละแห่งมีวิธีการผลิตแตกต่างกัน ต้นทุนไม่เท่ากัน
วิธีแก้ปัญหาคือ รัฐไม่ต้องเจาะลึกข้อมูลของแต่ละโรงกลั่น เพียงแต่ให้วิศวกรกำหนดอัตรากลาง โดยตั้งสมมุติฐาน theoretical assumptions ที่เหมาะสม
สมมุติฐานดังกล่าว จะต้องกำหนดให้โรงกลั่นมีกำไรพอสมควร แต่ไม่มากเกินไป
สำหรับโรงกลั่นใด หากมีประสิทธิภาพสูง หากสามารถลดต้นทุนการกลั่น ลงไปต่ำกว่าอัตรากลาง ก็จะได้รับกำไรนั้นไป
สำหรับโรงกลั่นใด หากไร้ประสิทธิภาพ หากไม่สามารถกดต้นทุนการกลั่น ให้ต่ำกว่าอัตรากลาง ก็จะได้รับขาดทุนนั้นไป
และถ้าวิศวกรในไทยไม่สามารถกำหนดอัตรากลางได้ ก็ให้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
ปัญหาที่สอง โรงกลั่นซื้อน้ำมันดิบจากแหล่งต่าง ๆ ราคาแตกต่างกัน
วิธีแก้ปัญหาคือ ทางการประกาศราคาน้ำมันดิบมาตรฐานโดยอ้างอิงตลาดโลกน้ำมันดูไบทุกวัน
สำหรับโรงกลั่นใด หากมีประสิทธิภาพสูง หากสามารถซื้อน้ำมันดิบได้ ต่ำกว่าราคากลาง ก็จะได้รับกำไรนั้นไป
สำหรับโรงกลั่นใด หากไร้ประสิทธิภาพ หากซื้อน้ำมันดิบ แพงกว่าราคากลาง ก็จะได้รับขาดทุนนั้นไป
ปัญหาที่สาม ถ้าราคาในประเทศต่ำกว่าราคาสิงคโปร์ส่งออก โรงกลั่นก็จะหันไปส่งออกเป็นหลัก
วิธีแก้ปัญหานี้ คือกำหนดให้โรงกลั่นต้องจัดสรรน้ำมันให้พอเพียงภายในประเทศก่อน จึงให้ส่งออก
ปัญหาที่สี่ มีผลิตภัณฑ์น้ำมันหลากหลายชนิด เช่น เบนชิน ดีเซล น้ำมันเตา แก๊สหุงต้ม น้ำมันอากาศยาน ซึ่งแต่ละโรงกลั่นมีต้นทุนไม่เท่ากัน
วิธีแก้ปัญหานี้ คือกำหนดเพดานค่าการกลั่นต่อลิตร เฉพาะสำหรับน้ำมันเบนซิน และดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันส่วนใหญ่
สำหรับแก๊สหุงต้ม จะมีวิธีบริหารจัดการแยกต่างหาก ซึ่งจะเขียนต่อไป
ถามว่า นักวิชาการมักเสนอให้ลดราคาน้ำมัน โดยควักกระเป๋าจากประชาชน เช่นไร?
ตอบว่า
ข้อเสนอที่หนึ่ง นักวิชาการมักเสนอให้ลดอัตราเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาทต่อหน่วย
ผมแย้งว่า (1) ถ้าลดอัตราเก็บภาษีสรรพสามิต จะเอารายได้ไหนมาพัฒนาประเทศ (2) การลดอัตราเก็บภาษีสรรพสามิต รัฐบาลจะต้องกูัหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
ข้อเสนอที่สอง นักวิชาการมักเสนอให้ลดเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมัน
ผมแย้งว่า ปัญหานี้สืบเนื่องจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไปกำหนดราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) ครัวเรือนอ้างอิงราคาซาอุดิอาระเบีย
ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และก็แก้ปัญหาแบบขอไปที โดยเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนฯ เอาไปอุดหนุนบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
ดังนั้น ปัญหานี้ต้องแก้ที่ต้นตอในเรื่องก๊าซ