ค่าไฟ ลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ 

Date:

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 2/2568 (ครั้งที่ 943) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง 

“ก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และ กกพ. เองก็ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ซึ่ง กกพ. ได้นำเสนอมาตรการในหลายๆ ทางเลือกเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และทางเลือกหนึ่งในขณะนั้นคือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ กกพ. เห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์เหมาะสม จึงได้หยิบยกขึ้นมาหารือ และให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอภาคนโยบายเพื่อทบทวนและเป็นทางเลือกในการลดค่าไฟให้พี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่ง” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อม สามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดลงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว

ช่วงต้นปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวพุ่งสูงขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว กกพ.แก้ปัญหาเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าหลายประการ และมีประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั่นคือ กกพ. มีมติเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11(12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) อันประกอบด้วย โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder 

เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และเป็นหน้าที่ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65(1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

          “ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

          (1) ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ”

หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ Feed in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคา

รับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ

          1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

          2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

          จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2568 ได้ระบุค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 

17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรีหรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที่ 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท 

จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ 

จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท 

          นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กรณีมีการแพร่ข่าวให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ใช้เทคนิคการสื่อสารด้วยการนำผลกระทบมาสร้างความน่าสนใจ (Interesting) โดยบิดเบือนว่าการจัดหาไฟฟ้าราคาหน่วยละ 2.1679 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนแพง เมื่อประชาชนได้ยินว่า “ค่าไฟฟ้าแพง” 

จึงเกิดความสนใจและติดตามเรื่องนี้ และแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน จนการดำเนินโครงการประสบปัญหา ส่วนผู้บิดเบือนข้อเท็จจริงจะมีวัตถุประสงค์อื่นใด ผมไม่ทราบ เพียงแต่เกรงว่า การบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าวจะทำให้ประชาชนซึ่งมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เกิดความวิตกกังวล ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวปราศจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง

และอาจทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รับทราบข้อความบิดเบือนแล้วเกิดความไม่มั่นใจต่อการจัดเตรียมไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้รองรับการลงทุน และเปลี่ยนแผนการลงทุนไปประเทศอื่น อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผมจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ 

          1. การได้มาซึ่งไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ส่วน

                     1.1 การรับซื้อไฟฟ้า มาจากฝ่ายนโยบายที่กำหนดปริมาณรับซื้อ ราคารับซื้อ ประเภทเชื้อเพลิงและวิธีการจัดหา ฉะนั้นต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับส่วนนี้

                     1.2 การขายไฟฟ้าให้ประชาชน อยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. ซึ่งมีหน้าที่นำต้นทุนด้านต่างๆ 

มาคำนวณและตัดทอนต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป ที่ผ่านมา กกพ. ตัดทอนค่าก๊าซโดยเรียกคืนมูลค่า Shortfall 

เกือบ 2 หมื่นล้านบาท เอามาลดค่าไฟฟ้า ลดค่าบริการในบิลค่าไฟฟ้า เดือนละ 39 บาท เหลือ 24 บาท ลดค่าบริการผ่านท่อก๊าซ 

          จากข้อเท็จจริงนี้ขอสรุปว่า ราคารับซื้อไฟฟ้า 2.1679 บาท เป็นการดำเนินงานของฝ่ายนโยบาย

          2. การรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาท ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านแพงหรือไม่ได้สร้างความเดือดร้อน

ให้กับประชาชน เพราะไฟฟ้าในส่วนนี้ผลิตมาเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดและมีอัตราที่สูงกว่าไฟบ้าน ฉะนั้นแม้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาทไปแล้ว ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านถูกลง เพราะค่าไฟฟ้าจากกลุ่ม Adder และ FiT ซึ่งมีราคาหน่วยละ 3.1617 ถึง 11.1617 บาท ฝังอยู่กับค่าไฟบ้าน ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ กกพ.จัดหาไปแล้วนั้น ไปคิดกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองส่วนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของราคาค่าไฟ

          3. จากตัวเลขต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง (Generation Mixed) เช่น ลิกไนต์ 1.52 บาท 

น้ำ 1.45 บาท ก๊าซ 3.18 บาท เป็นต้น เมื่อนำราคาทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย พบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาท ดังนั้น การนำไฟฟ้าที่มีราคารับซื้อต่ำกว่า 3.02 บาทเข้าระบบ ก็จะทำราคาค่าไฟเฉลี่ยลดลง ในทางตรงกันข้าม หากนำไฟฟ้าที่มีต้นทุนการรับซื้อสูงกว่า 3.02 บาทมาเพิ่มในระบบ ก็จะทำให้ราคาค่าไฟเฉลี่ยสูงขึ้น ตัวเลขนี้จะทำให้ประชาชนเห็นว่า ควรจัดการกับ Adder กับ Feed in Tariff ซึ่งมีต้นทุนตั้งแต่ 3.1617 ถึง 11.1617 บาทโดยเร็ว และจัดหาไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า 3.02 บาท เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ลุยเวทีโลกต่อเนื่อง “พิชัย“ ร่วมวง WTO ที่ดาวอส

ลุยเวทีโลกต่อเนื่อง “พิชัย“ ร่วมวง WTO ที่ดาวอส รับมือความตึงเครียดทางการค้า มั่นใจ นายกฯ นำพาประเทศสู่ยุคทองการค้า-ลงทุน

ไทยติดที่ 2 อาเซียน ที่สหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีนำเข้า

ttb analytics ชี้ ไทยติดที่ 2 อาเซียน ที่สหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีนำเข้า ภายใต้นโยบาย Trump 2.0

บมจ.โปร อินไซด์ คว้างานใหม่ของ กฟภ. มูลค่า 1.5 พันล้านบาท

บมจ.โปร อินไซด์ คว้างานใหม่ของ กฟภ. มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ดัน Backlog พุ่งแตะ 2.7 พันลบ. หนุนรายได้ปี 68 เติบโต 15% ตามนัด

ศรีสวัสดิ์ แนะนำเช็กให้ชัวร์ ก่อนกู้เงินด่วนออนไลน์

ศรีสวัสดิ์ แนะนำเช็กให้ชัวร์ ก่อนกู้เงินด่วนออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ