ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนอย่างใกล้ชิด
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2568 ราว 38.8 ล้านคน โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวอาเซียน ยุโรป และเอเชียใต้ที่ยังเติบโตได้ดี รวมถึงนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมาไทยคาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องโดยแม้จะยังไม่ฟื้นกลับมาในระดับเดียวกับปี 2562 แต่ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทาง TOP 2 ของนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี การเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อต่อเนื่องไปยังความต้องการท่องเที่ยว, การแข่งขันเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงขึ้นจากการออกมาตรการฟรีวีซ่าในหลายประเทศ, การฟื้นตัวของเที่ยวบินซึ่งส่งผลต่อจำนวนที่นั่งและราคาตั๋วเครื่องบิน รวมถึงแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูง กับความกังวลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน
นักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มท่องเที่ยวในประเทศต่อเนื่องโดยคาดว่าจะอยู่ที่ 275.6 ล้านคน ซึ่งเติบโตขึ้นเล็กน้อยราว 2%YOY จากแรงกดดันของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบางและส่งผลต่อการวางแผนท่องเที่ยวของคนไทย รวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวไทยกำลังซื้อสูงจากมาตรการฟรีวีซ่าในหลายประเทศและแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาประหยัดที่ดึงดูดให้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวในประเทศยังมีปัจจัยหนุนจากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ซึ่งปัจจุบันเมืองน่าเที่ยวกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น
การเติบโตของนักท่องเที่ยวส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องทั้งอัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ย
อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของประเทศในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตมาอยู่ที่ราว 75% จากนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดรับกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยออกมาตลอดทั้งปี
และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาใกล้เคียงปกติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจะเดินทางมาไทยมากขึ้นและพำนักในไทยนานขึ้นอย่างนักท่องเที่ยวรัสเซียตามนโยบายขยายระยะเวลาการพำนักในไทยเป็น 90 วัน
ราคาห้องพักเฉลี่ยคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นราว 5%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปรับราคาห้องพักของผู้ประกอบการโรงแรมโดยเฉพาะในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปหลังมีการปรับปรุงห้องพักและยกระดับการให้บริการตามเทรนด์การท่องเที่ยว รวมถึงจากอุปสงค์ที่ดีขึ้นตามยอดจองที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากการทำโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าท้าย ทั้งจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากอุปทานห้องพักของโรงแรมก่อสร้างใหม่ที่ทยอยเปิดให้บริการต่อเนื่อง และต้นทุนการบริหารจัดการโรงแรม โดยเฉพาะค่าจ้างที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านบริการ โดยยังมีปัจจัยบวกจากเทรนด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ยอมจ่ายสูงขึ้นเพื่อได้รับบริการระดับพรีเมียมและประสบการณ์ที่แปลกใหม่ รวมถึงระยะเวลาการเข้าพักของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มยาวนานขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่าของภาครัฐและการโปรโมตการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น 1. มาตรการและนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว อย่างเช่นการให้สิทธิชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดและเช่าที่ดิน, การเก็บค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม และการเก็บค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดิน 2. อุปทานห้องพักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโรงแรมที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและจำนวนโรงแรมที่ขออนุญาตก่อสร้างใหม่ซึ่งจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า และ 3. ประเด็นด้านความยั่งยืนโดยโรงแรมไทยกำลังถูกผลักดันให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนรับข้อกำหนดใหม่ของ EU ภายในปี 2569
ในขณะเดียวกัน รายได้ของธุรกิจสายการบินสัญชาติไทยในปี 2568 ก็มีแนวโน้มเติบโตและฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19
รายได้ในเส้นทางบินระหว่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย โดยเฉพาะจากฝั่งเอเชียอย่างจีน อินเดีย และอาเซียนที่มีการขยายเที่ยวบินเพิ่มขึ้น และ 2. การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็น 10 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้
รายได้ในเส้นทางบินในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย หลังจากที่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว แม้ปริมาณเที่ยวบินที่ให้บริการยังต่ำกว่าปี 2562 โดยนักท่องเที่ยวภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3%YOY เป็น 363 ล้านคนโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางต่อในเส้นทางในประเทศ
อัตราค่าโดยสารโดยรวมมีแนวโน้มลดลงจากปี 2567 แต่จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าปี 2562 โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น 1. ความต้องการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ 2. การเพิ่มขึ้นของปริมาณเครื่องบิน 3. การแข่งขันในธุรกิจสายการบินที่รุนแรงขึ้น 4. ระดับราคาน้ำมันอากาศยานที่ปรับลดลง ซึ่งช่วยให้การปรับราคาทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี นโยบายการตั้งราคาของสายการบินจะช่วยพยุงอัตราค่าโดยสารไว้
อย่างไรก็ดี ธุรกิจสายการบินยังเผชิญกับความท้าทายและประเด็นที่ต้องติดตามในหลายด้าน โดย 4 ความท้าทายของธุรกิจสายการบิน ได้แก่ 1. ความต้องการเดินทางทั่วโลกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 2. การแข่งขันในธุรกิจการบินที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศจากทั้งสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินต่างชาติ 3. ต้นทุนเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มผันผวนสูงโดยเฉพาะจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และ 4. กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการให้บริการ นอกจากนี้ 3 ประเด็นที่ต้องติดตามในธุรกิจสายการบินคือ 1. การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ซึ่งเป็นเรื่องที่สายการบินทั่วโลกกำลังวางแผนการเพิ่มสัดส่วนการใช้ให้มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายกำลังการผลิตน้ำมัน SAF ที่ยังต้องเร่งพัฒนา 2. ปัญหาคอขวดด้านการผลิตเครื่องบินจากทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 และด้านเทคนิคเครื่องบิน อีกทั้ง ยอดสั่งจองเครื่องบินใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3. แนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะในกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งจะเป็นอีกประเด็นสำคัญต่อการฟื้นตัวของสายการบินสัญชาติไทย