ธนาคารกสิกรไทย เปิดแผนธุรกิจปี 2568

Date:

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี 2568 ธนาคารจะมุ่งยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์  (AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ  บุกเบิกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ  ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการยกระดับประสบการณ์โดยรวมของลูกค้าที่มีต่อธนาคารให้ดียิ่งขึ้น

กลยุทธ์ของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการคาดการณ์ต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น  โดยธนาคารได้กําหนดเป้าหมายทางการเงินสําหรับปี 2568 ดังนี้

การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ ในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว และสินเชื่อที่มีหลักประกัน ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงกลยุทธ์สินเชื่อ ฟื้นฟูขีดความสามารถหลัก และปรับปรุงการจัดการทั้งกระบวนการ   ตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปี 2568 ในระดับทรงตัว  

ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) 3.3-3.5% สอดคล้องกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ โดยผลตอบแทน NIM เมื่อหัก Credit Cost แล้ว จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ(Net Fee Income Growth) Mid to High-single Digit โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตเชิงกลยุทธ์ในการให้บริการโซลูชันด้านการลงทุน แม้รายได้ค่าธรรมเนียมการทําธุรกรรมทั่วไปจะลดลงเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) คาดว่าจะอยู่ที่ Low to Mid-40s 

เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio – Gross)  น้อยกว่า 3.25% ค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Credit Cost) คาดว่าจะปรับตัวสู่ระดับปกติ (Normalized Level) ในช่วง140-160 bps โดยธนาคารยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

นางสาวขัตติยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยจะเติบโตประมาณ 2.4% การบริโภคและการส่งออกภาคเอกชนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการเติบโตน้อยลง และการใช้จ่ายของรัฐบาลจะสูงขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูง ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง

ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจดังกล่าว ธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารที่ไว้วางใจได้และส่งมอบการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า เร่งพัฒนาเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่องค์กร ควบคู่กับการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ตามยุทธศาสตร์ 3+1 และ Productivity

ยุทธศาสตร์ 3+1 และ Productivity ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่ทำต่อเนื่องจากปี 2567 ได้แก่ ยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน คือ การยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ การขยายธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่าง ๆ  และ ‘บวกหนึ่ง’ คือการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว โดยสิ่งที่ธนาคารเน้นเพิ่มขึ้นในปี 2568 นี้ คือ ยุทธศาสตร์ Productivity เพื่อเพิ่มผลิตภาพจากการดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ในปี 2568 ธนาคารจะยังมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสามารถสนับสนุนลูกค้ากว่า 24 ล้านราย ให้บรรลุศักยภาพสูงสุด

ธนาคารกสิกรไทยได้จัดลำดับความสําคัญเชิงกลยุทธ์ 3+1 และ Productivity ขับเคลื่อนการทำงานสู่เป้าหมาย ดังนี้

ยุทธศาสตร์หลักที่ 1 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ ด้วยการมุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เน้นการให้บริการลูกค้าปัจจุบันที่มีคุณภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ปรับให้เหมาะกับลูกค้า และใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับการจัดการทั้งกระบวนการ เพื่อยกระดับศักยภาพด้านสินเชื่อ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อใหม่มากกว่า 90% มาจากสินเชื่อที่มีหลักประกันและจากลูกค้าปัจจุบันที่ธนาคารรู้จักอย่างดี ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงให้ความสําคัญกับการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  ทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ รวมทั้งจะกลับมาเปิดโครงการสนับสนุนและให้ความรู้เอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของลูกค้า 

ยุทธศาสตร์หลักที่ 2 ขยายธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียม ด้วยการให้บริการโซลูชันการลงทุนและการชําระเงิน ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม

กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Business) ธนาคารมุ่งเน้นส่งเสริมบริการด้านการลงทุน และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่เป็นที่ไว้วางใจ (Trusted Advisor) อย่างต่อเนื่อง ด้วยโซลูชันการลงทุนที่หลากหลาย ผ่านการให้คําปรึกษาจัดพอร์ตการลงทุนแบบ “Core & Satellite” ใช้ความแข็งแกร่งจากพันธมิตรระดับโลก และความเชี่ยวชาญในประเทศ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ ด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน และการให้บริการการลงทุนที่สะดวกสบายผ่านแพลตฟอร์ม K PLUS  รวมทั้ง บริการ ‘Better Finance for Better Life’ บน K PLUS ที่รวมการบริหารพอร์ตการเงินและการติดตามการใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า โดยในปี 2568 ธนาคารจะยังคงนําเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม ขยายและยกระดับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ซับซ้อนผ่านประสบการณ์ดิจิทัล (Digital Experience) ควบคู่ไปกับการเสริมความแข็งแกร่ง และการเป็นศูนย์กลางความรู้ผ่าน K-Wealth ต่อยอดความเป็นอันดับหนึ่งด้านกองทุนของ บลจ. กสิกรไทยอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มธุรกิจการชําระเงิน (Payment Business) ธนาคารมีบริการชำระเงินที่หลากหลาย โดยมี K PLUS เป็นจุดเชื่อมต่อบริการ ซึ่งปัจจุบัน จำนวนธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทย 1 ใน 3 ทำผ่าน K PLUS อีกทั้ง ธนาคารมีบริการเด่น อาทิ การให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ (Remittance) ที่สามารถโอนเงิน 25 สกุลเงิน ใน 150 ประเทศทั่วโลก การเชื่อมต่อกับบริการชำระเงินด้วย QR Payment ระหว่างประเทศผ่าน Alipay+ และ WeChat  การแลกเงินผ่านตู้ ATM และ FX Booth ครอบคลุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ การบริการ K PLUS Go Inter บริการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในที่เดียว ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงพัฒนาบริการชําระเงินโดยมี K PLUS เป็นแพลตฟอร์มหลัก ควบคู่ไปกับการขยายเข้าไปรองรับระบบนิเวศในธุรกิจร้านค้า เพื่อให้รับชำระเงินได้หลากหลาย

ยุทธศาสตร์หลักที่ 3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่าง ๆ  ธนาคารมุ่งส่งมอบประสบการณ์ของลูกค้าในการใช้งานในช่องทางต่างๆ โดยเน้นผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ด้วย K PLUS ที่มาพร้อมความปลอดภัย สะดวก ตลอด Journey ของลูกค้า ตั้งเป้า ปี 2568 เพิ่มจํานวนผู้ใช้ K PLUS จาก 23.1 ล้านคนเป็น 23.9 ล้านคน รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน K BIZ ให้ใช้งานง่ายยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าผู้ใช้งาน K BIZ จาก 1.2 ล้านคนเป็น 2.1 ล้านคน ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงตอกย้ำความเป็นผู้นําด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ด้วยประสบการณ์ดิจิทัลเฟิสต์ โดย K PLUS ครองความเป็นอันดับ 1 ด้านการใช้งาน และอันดับ1 ด้านความพึงพอใจและความผูกพันกับแบรนด์ (Net Promoter Score: NPS) ในกลุ่มธุรกิจธนาคารในประเทศ และบริการ Contact Center ได้รับคะแนนความพึงพอใจอันดับ 1(Net Promoter Score: NPS) ทั้งการให้บริการผ่านช่องทางโทรศัพท์ รวมทั้งการให้บริการแบบครบวงจรผ่าน KBank Live และสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ จากผลสำรวจของบริษัท นีลเส็นไอคิว (NielsenIQ) บริษัทวิจัยผู้บริโภคชั้นนำของโลก 

ธนาคารยังวางรากฐาน ยุทธศาสตร์ +1 เพื่อสร้างรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว ได้แก่ การดำเนินงานของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ ควบคู่กับการให้ความสําคัญกับคุณภาพสินทรัพย์ สําหรับการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค ธนาคารให้ความสําคัญกับภูมิภาค AEC+3 โดยเฉพาะการเติบโตในตลาดที่มีศักยภาพ ในประเทศจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ยกระดับการให้บริการทางการเงินด้วยนวัตกรรมผ่านการทำงานในระบบนิเวศและการสร้างนวัตกรรม  ด้วยการเปิดตัว 4 ใบอนุญาตในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งธนาคารยังสนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการจัดตั้งบริษัท คอปฟิฟตี้ จำกัด (KOP50) บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร เพื่อริเริ่มโครงการสร้าง Sustainable Ecosystem ที่สมบูรณ์ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ จาก กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป  รวมทั้ง ระหว่างปี 2565-2567 ธนาคารได้ส่งมอบเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุนด้านความยั่งยืนจำนวนกว่า 1.2 แสนล้านบาท 

ยุทธศาสตร์ด้าน Productivity ธนาคารมุ่งเน้นที่จะยกระดับนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารและจัดการภายในองค์กร (Productivity) ผ่านการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการทำงาน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน (Human Intelligence) เพื่อสร้างให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และเกิดการทำงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด 

นางสาวขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจและร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นเวลา 80 ปี บนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ ทำให้ธนาคารมีความยืดหยุ่น สามารถขับเคลื่อนผ่านความไม่แน่นอนและความท้าทายต่าง ๆ ได้ และเป็นธนาคารที่ไว้วางใจได้สําหรับลูกค้าเสมอมา ส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุด ผ่านนวัตกรรมและการนําเสนอโซลูชันทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า ซึ่งพิสูจน์ได้จากความเป็นผู้นําในด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

orbix INVEST เปิดตัวกลยุทธ์แรก “Trigger”

orbix INVEST เปิดตัวกลยุทธ์แรก “Trigger” ชูเป้าหมาย 20% ใน 6 เดือน พร้อมนโยบาย ‘No Success, No Fee’

“CEO หญิงแห่ง Soft Power” พี่ดาว มาสเตอร์พีช

“CEO หญิงแห่ง Soft Power” พี่ดาว มาสเตอร์พีช คว้ารางวัล The Best Woman Leadership สาขา Gender Equality Award

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ แต่งตั้ง เอเดรียน เมซซินาวเออร์

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ แต่งตั้ง เอเดรียน เมซซินาวเออร์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่

บ้านปู เน็กซ์ ติดตั้งโซลาร์ 4 เมกะวัตต์ให้ไบเทคบุรี

บ้านปู เน็กซ์ ติดตั้งโซลาร์ 4 เมกะวัตต์ให้ไบเทคบุรี มิกซ์ยูสใหญ่ที่สุดของภิรัชบุรีกรุ๊ป ขยายความร่วมมือช่วยลดคาร์บอนย่าน CBD กรุงเทพฯ ตะวันออก