
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติผู้ทำบัญชี ในปี 2567 ว่า มีผู้ทำบัญชีทั้งสิ้นจำนวน78,268 คน เพิ่มขึ้น 5,705 คน เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย 5 อันดับจังหวัดที่มีผู้ทำบัญชีมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 29,882 คน รองลงมาคือจังหวัดนนทบุรี 5,231 คน สมุทรปราการ 4,727 คน ปทุมธานี 3,098 คน และชลบุรี 3,095 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 58 ของผู้ทำบัญชีที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วประเทศ หากนำมาเปรียบเทียบกับนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ตามจังหวัดของผู้ทำบัญชี 5 อับดับสูงสุด พบว่า มีนิติบุคคล 542,125 ราย คิดเป็นกว่า ร้อยละ 58 ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ซึ่งมีนิติบุคคลเฉลี่ย 11-12 นิติบุคคล ต่อผู้ทำบัญชี 1 คน จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ทำบัญชีมีเพียงพอและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนิติบุคคลที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในปี 2568 นี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบงานผู้ทำบัญชี (e-Accountant) ให้รองรับกับร่างประกาศกรม เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 โดยมีแผนการพัฒนาระบบให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้งานของผู้ทำบัญชี และข้อมูลมีความถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ธุรกิจยังสามารถค้นหาผู้ทำบัญชี เพื่อจัดทำบัญชีให้กับธุรกิจได้ รวมทั้งตรวจสอบสถานะของผู้ทำบัญชีและการแจ้งรับทำบัญชีของผู้ทำบัญชีตนเองได้อีกด้วย
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า ผู้ทำบัญชีมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ นอกจากมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบัญชีแล้ว ยังต้องมีความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านบัญชี สนับสนุนข้อมูลให้ผู้บริหารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนและกำหนดแนวทางการทำงาน ดังนั้นผู้ทำบัญชีจึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและการดำเนินงานต่างๆ เพื่อสะท้อนสุขภาพที่แท้จริงของธุรกิจ โดยตลอดปี 2567 กรมฯ ได้เดินสายส่งเสริมให้ความรู้เรื่องรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินฉบับใหม่ที่เริ่มบังคับใช้สำหรับงบการเงินรอบปีบัญชีที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ซึ่งจะต้องนำส่งงบการเงินในเดือนพฤษภาคม 2568 นี้ และยังให้ความสำคัญในเรื่องความรู้ที่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และข้อบกพร่องในการจัดทำบัญชีเพื่อกำกับให้ภาคธุรกิจปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการจัดอบรมให้แก่ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้ที่สนใจ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการอบรมแล้วกว่า 1,740 คน พร้อมเน้นย้ำให้ผู้ทำบัญชีปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังเร่งพัฒนาศักยภาพให้กับนิสิต/นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านโครงการสร้างนักบัญชีคุณภาพรุ่นใหม่ (Young & Smart Accountants) ซึ่งเป็นการเรียน ในรูปแบบ e-Learning และยังสามารถเลือกหลักสูตรเพิ่มเติมจากที่อบรมผ่านระบบ Zoom โดยกรมฯ ได้สรรหาวิทยากรจากผู้มีประสบการณ์ เช่น หลักสูตร Transformative Accounting ปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานด้านบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล และหลักสูตรความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น และในปีนี้ได้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับบริบทการทำงานของนักบัญชียุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานบัญชีคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากกรมฯ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 180 สำนักงาน มาแบ่งปันประสบการณ์ของนักบัญชีจากพี่สู่น้อง ขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการสร้างนักบัญชีคุณภาพรุ่นใหม่ (Young & Smart Accountants) เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์นักบัญชีให้เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ทำบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่มีคุณภาพ มีธรรมาภิบาล ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างความเข็มแข็งให้แก่ธุรกิจไปด้วยกัน ผู้ทำบัญชี และสำนักงานบัญชี ต้องที่ปรึกษาที่ดี พร้อมสนับสนุนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อการตัดสินใจและสร้างความเข็มแข็งให้กับธุรกิจ โดยต้องไม่แนะนำหรือส่งเสริมให้ธุรกิจทำผิดกฎหมาย เช่น การถือหุ้นแทนคนต่างชาติ (นอมีนี) หรือการเปิดบัญชีม้าในรูปแบบนิติบุคคลโดยเด็ดขาด
