3 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนเศรษฐกิจการค้า

Date:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ครบรอบ 3 ปีในวันที่ 24 ก.พ. นี้ ว่านับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกองกำลังเข้าไปปฏิบัติการทหารในยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. 65 และเดินหน้าโจมตีจนสามารถยึดครองดินแดนของยูเครนมาได้มากกว่าหนึ่งในห้า 

ในขณะเดียวกัน ยูเครนก็ได้รับการสนับสนุนทางทหารจากชาติตะวันตกและพันธมิตร NATO อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต่อรัสเซียเพื่อกดดันให้รัสเซียยุติการสู้รบ จนนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมาจนถึงขณะนี้

อย่างไรก็ตาม สงครามที่ดำเนินมาเป็นเวลานานถึง 3 ปี กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ภายหลังการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เร่งเดินหน้าเปิดทางเจรจาสันติภาพของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ท่ามกลางความหวังว่าความขัดแย้งที่มีแนวโน้มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศษฐกิจการค้าโลกในระยะข้างหน้า

สงคราม 3 ปี สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมหาศาล

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีสาเหตุหลักจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจโลกและไทย เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนาน อันเป็นผล

สืบเนื่องมาจากการสู้รบในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ และความผันผวนของราคาพลังงานโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกช่วงปี 2565-2567 เติบโตอย่างอ่อนแอ ที่ 3.6%  3.3% และ 3.2% ตามลำดับ ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากระดับ 6.6% ในปี 2564 และยังต่ำกว่าการเติบโตในทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 (ปี 2543-2562) ที่เติบโตเฉลี่ย 3.8% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงในปี 2566 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกที่กลับมาหดตัวในรอบ 3 ปี จากผลของการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของประเทศต่าง ๆ ที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม

สิ้นปีที่ 3 สู่ 3 ความคาดหวังการยุติสงครามภายในปีนี้

ความหวังแรก : การเจรจายุติสงคราม จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามในยูเครนเกิดขึ้นภายหลัง

การกลับมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือน ม.ค. 68 ที่ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อยุติสงครามในยูเครนโดยเร็วที่สุด ซึ่งนำไปสู่การหารือแบบพบหน้ากันอย่างเป็นทางการ

ครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัสเซียที่กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 18 ก.พ. 

ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวทางยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องที่จะฟื้นฟูภารกิจการทูตระหว่างกัน และจะทำงานร่วมกันเพื่อการเจรจายุติสงครามในยูเครน รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อการเจรจาสันติภาพที่จะนำไปสู่การยุติสงครามในยูเครน ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือ ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

และเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการยุติสงครามในยูเครน แม้ว่ายูเครนและประเทศพันธมิตรในยุโรปไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ แต่ก็เชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะเป็นการปูทางสู่การเจรจาสันติภาพโดยตรงระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียกับยูเครนต่อไป 

ความหวังที่สอง : หนุนฟื้นเศรษฐกิจโลก สัญญาณการใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อยุติการสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานถึง 3 ปี ไม่เพียงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรงเท่านั้น แต่จะยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย โดย IMF ประเมินเมื่อปลายปี 2567 ว่า หากสงครามสิ้นสุดภายในปลายปี 2568 เศรษฐกิจของยูเครนอาจกลับมาเติบโตถึง 4% ซึ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ในเดือน ต.ค. 67 ที่ 2.5% หลังจากที่เผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนักจนทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 28.8% ในปี 2565 ขณะที่ทางด้านของรัสเซียเมื่อยอมยุติสงคราม เชื่อว่าชาติตะวันตกจะทยอยผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งจะทำให้รัสเซียกลับเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการกลับมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป

ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตอาหารและพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมารัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่

แม้จะหดตัว 1.3% ในปี 2565 แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้ถึง 3.6% ในปี 2566-2567

ความหวังที่สาม : ผลักดันเศรษฐกิจการค้าไทย

ตลอดช่วงเวลาแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจของรัสเซียจากการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก กระทรวงพาณิชย์มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความร่วมมือและรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับรัสเซีย โดยแยกประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจออกจากความสัมพันธ์ทางการค้า แม้ว่าการส่งออกไปรัสเซียในปี 2565 จะลดลงจากปี 2564 ถึงกว่า 43.4% แต่ก็กลับมาขยายตัว 40.5% ในปี 2566 และขยายตัวต่อเนื่อง 7.9% ในปี 2567 ด้วยมูลค่า 885.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับระดับการส่งออกในช่วงก่อนเกิดสงครามในยูเครน ขณะที่การส่งออกไปยูเครนที่แม้จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดสงครามแต่ก็เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยการส่งออกไปยูเครนขยายตัวถึง 110.5% ในปี 2567

สถานการณ์สงครามและความตึงเครียดทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงหลังจากนี้ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสในการผลักการค้าการลงทุนของไทยกับรัสเซียได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งจะเอื้อประโยชน์ต่อการเร่งรัดเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย (EAEU) ที่จะช่วยเปิดประตูการค้าการลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ที่ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งล้วนเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย 

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวปิดท้ายว่า ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสงครามในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ใช้อาวุธสู้รบหรือสงครามที่ไม่มีการใช้อาวุธอย่างสงครามการค้า กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด พร้อมทั้งประสานงานกับภาคเอกชนและร่วมมือกันวางแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการค้าไทยในภาพรวม และในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเดินหน้าผลักดันการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมั่นใจว่าจะทำให้การส่งออกไทยในปีนี้บรรลุได้ตามเป้าหมายหรือสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

SME D Bank เติมพลังสมาชิกหอการค้าไทย

SME D Bank เติมพลังสมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ หนุนเข้าถึงแหล่งทุน จัดทัพสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3%ต่อปี

กู๊ดมันนี่ X บิ๊กซีออนไลน์ ผุดแคมเปญขอสินเชื่อ

กู๊ดมันนี่ X บิ๊กซีออนไลน์ ผุดแคมเปญขอสินเชื่อรับส่วนลดช้อปออนไลน์ บนแอป GOOD MONEY ช่วยลดภาระค่าครองชีพสมัครได้ ถึง 30 เม.ย. 2568

EXIM BANK พบปะหารือกระทรวงพาณิชย์

EXIM BANK พบปะหารือกระทรวงพาณิชย์ ยกระดับธุรกิจไทยสู่ตลาดการค้าโลก 

“นายกฯ อิ๊งค์” เอาจริงปราบ บุหรี่ไฟฟ้า

“นายกฯ อิ๊งค์” สั่งเอาจริงปราบ บุหรี่ไฟฟ้า ตั้ง “จิราพร” เจ้าภาพดูข้อกฎหมายเอาผิด ขีดเส้น 15 วันอัพเดต

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5464