ธ.ทิสโก้ แนะ “ขายทำกำไร” ตราสารหนี้โลก

Date:

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงต้นปี2568 ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ลูกค้าลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้โลก เพื่อปกป้องพอร์ตการลงทุนและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในยุคทรัมป์ 2.0 นั้น ปรากฎว่าตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตราสารหนี้โลกสร้างผลตอบแทนไปแล้วกว่า 2% (อ้างอิงจาก Bloomberg Global-Aggregate Total Return Index Value Unhedged USD ณ วันที่ 28 ก.พ. 68) ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันตราสารหนี้ไทยให้ผลตอบแทน 0.35% (อ้างอิงจาก ดัชนี Thai BMA Zero Rate Return 1 Year ZRR  ณ วันที่ 28 ก.พ. 68) โดยตราสารหนี้โลกได้รับปัจจัยบวกจากราคาตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามคาด ประกอบกับจังหวะที่แนะนำให้ลูกค้าเข้าซื้อเป็นช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) อยู่ในระดับสูงอีกด้วย  

อย่างไรก็ตาม ธนาคารทิสโก้มองว่าหลังจากนี้ตราสารหนี้โลกอาจให้ผลตอบแทนลดลง หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 3 ครั้งตามที่ตลาดคาด เพราะมีความเสี่ยงว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวอีกครั้งหลังจากทรัมป์เดินหน้าสงครามการค้าเข้มข้นขึ้น ดังนั้น จึงแนะนำให้ลูกค้า “ขายทำกำไร” ตราสารหนี้โลก และ “ทยอยซื้อ” “หุ้น” ที่ราคาปรับลงและมีปัจจัยบวกรออยู่ ได้แก่ หุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ หุ้นญี่ปุ่น หุ้นอินเดีย และหุ้นเวียดนาม นอกจากนี้ยังแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทองคำ เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในช่วงที่เงินเฟ้อมีโอกาสเร่งตัวขึ้นด้วย   

“ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลงสู่ระดับประมาณ 4.1% เพราะนักลงทุนโยกเงินลงทุนจากหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้ ส่วนหนึ่งเพราะกังวลสงครามการค้าจะรุนแรงขึ้นหลังปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีต่อเม็กซิโก แคนาดาและจีน อย่างไรก็ตาม Bond yield ที่ปรับลงมาค่อนข้างรวดเร็วได้ Priced-in ความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไปพอสมควรแล้ว หลังจากนี้เงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นและ Fed อาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด ทำให้ Bond yield อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ อาจจะเคลื่อนไหวกลับไปที่ระดับ 4.5% จังหวะนี้จึงเหมาะสมที่จะขายทำกำไรตราสารหนี้โลกที่ในช่วง 2 เดือนนี้สร้างผลตอบแทนไปกว่า 2%” นายณัฐกฤติกล่าว 

สำหรับตลาดหุ้นที่มีการปรับตัวลงในช่วงนี้มองว่าเป็นโอกาสเข้าลงทุนจากราคาที่เริ่มถูกลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตได้แก่ หุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากแผนการคลังของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แก่ การลดภาษีนิติบุคคล การผ่อนคลายกฎระเบียบ และมีความเสี่ยงต่ำจากการตอบโต้กลับของมาตรการทางการค้า ส่วนหุ้นประเทศญี่ปุ่น อินเดียและเวียดนาม มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวในการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งมีสัดส่วนกว่า 50% ของ GDP ประเทศตัวเองได้  โดยประเทศญี่ปุ่นมีความน่าสนใจจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นพึ่งหลุดจากภาวะเงินฝืดและมีทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยการบริโภคภายในประเทศ (Domestic consumption) และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจาการปรับขึ้นของค่าจ้างปี 2568 ต่อเนื่องอีก 4-5% จากปีก่อนที่จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและยังมีปัจจัยช่วยจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงคาดว่าจะมีการเติบโตเศรษฐกิจปี 2568 สูงระดับ 1.2%  

ขณะที่ประเทศอินเดียและเวียดนามถูกมองว่าเป็นทางเลือกในการเป็นผู้ผลิตหรือเป็นทางผ่านของการส่องออกสินค้าไปทั่วโลกแทนจีน และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ทั้งการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ทำให้ทั้ง 2 ประเทศนี้คาดว่าจะมีการเติบโตเศรษฐกิจปี 2568 สูงระดับ 6.3% และ 6.7% ตามลำดับ และที่เป็นจุดที่น่าสนใจคือหุ้นเวียดนามมีแนวโน้มจะ Upgrade สถานะของตลาดหุ้นเวียดนามขึ้นเป็น Emerging Markets ในปีนี้ ทำให้เปิดทางให้เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติสามารถเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอีกด้วย 

ส่วนทองคำยังมองว่าน่าสนใจจากปัจจัยหนุนระยะกลาง-ยาวจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่อาจจะเร่งตัวขึ้น 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

รัฐมนตรีคลังจนแต้ม จี้พิจารณาตัวเองด่วน

รัฐมนตรีคลังจนแต้ม ทีมเศรษฐกิจสองนายกรัฐมนตรี ไม่รู้เรื่องรู้ราวเอาเสียเลย แนะนำให้ท่านทบทวนตัวเองและทีมงานเป็นการด่วน

ผลสำรวจ นิด้าโพล เห็นควรปรับ ครม. ทันที

ผลสำรวจ นิด้าโพล เห็นควรปรับ ครม. ทันที ลงความเห็น 2 พิชัย ไม่ควรไปต่อ

ปรับภูมิใจไทยออก: ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

ปรับภูมิใจไทยออก เพื่อไทยอยู่ในลักษณะกลืนไม่เข้าขายไม่ออก หรือจะเรียกว่ายักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก ก็ได้

คาด กนง. ลดดอกเบี้ย ช่วยประคอง ศก. ไม่ให้ทรุดไปกว่านี้

“อมรเทพ จาวะลา” ประเมิน 3 ปัจจัยเสี่ยง ทำให้ กนง. ลดดอกเบี้ย ในการประชุม 30 เม.ย. นี้ ประตองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้