เริ่มแล้วประชุม 7 ชาติ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล BIMSTEC

Date:

วันที่ 4 เมษายน เวลา 08.00 น. ที่ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกแบบตัวต่อตัวในรอบ 7 ปี  

โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้นำทั้ง 7 รวมทั้งไทยเข้าร่วมประชุมได้แก่ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ นาย ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย  พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล ดร. หริณี อมรสุริยะ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย 

ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับ พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมา โดยได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้จัดส่งถึงเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์  รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด และการลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย  โดยเฉพาะความร่วมมือ ในการปราบปรามแก๊ง  call center และขบวนการ online scam   รวมทั้งประสานเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงกลับประเทศ  ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดของประเทศไทย  ทำให้การส่งข้อความและการโทรศัพท์หลอกลวง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ซึ่งนางสาวแพทองธารกล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยความมั่นคงให้มีการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการในการเดินหน้าตาม“ยุทธศาสตร์ฟ้าใส ”(Clear Sky  Strategy) เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขไฟป่า ฝุ่นละออง และหมอกควัน โดยมีสมาชิก  3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก  จุดความร้อน และปัญหาฝุ่น ควันลดน้อยลง  นอกจากนี้ ไทยและเมียนมา ยังได้ร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วยการเร่งขุดลอก รื้อถอน สิ่งกีดขวางทางน้ำในแหล่งน้ำ และแม่น้ำระหว่างสองประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ก่อนฤดูฝนในปีนี้  

ทั้งนี้ ประเทศไทยและเมียนมา จะร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ทางการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรสมัยใหม่ เช่นข้าวโพด ให้มีผลผลิตมากขึ้น ให้ทำลายธรรมชาติน้อยลง และลดการเผาพืช รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ไก่  โค สุกร ซึ่งจะสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นด้วย 

โดยความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจหรือบิมสเทค (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ  BIMSTEC) ครั้งนี้ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และเป็นการริเริ่มและผลักดันของไทย ตามนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) 

กต. เผยวงประชุมบิมสเทคไม่พูดถึงการเมืองภายในเมียนมา -มาตรการขึ้นภาษีสหรัฐฯ

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงผลการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ว่า ที่ประชุมบิมสเทค ครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือถึงสถานการณ์การเมืองภายในของเมียนมา มีเพียงการพูดคุยถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น การที่ไทยในฐานะประธานการประชุมบีมสเทคครั้งนี้เชิญผู้นำเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นไปตามกฎบัตรของบีมสเทคที่ต้องเชิญผู้นำทุกประเทศมาร่วมประชุม รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่าข้อตกลงทุกอย่างจะได้รับการรับรองจากทุกประเทศสมาชิก

เมื่อถามถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า นายนิกรเดช กล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือในที่ประชุม โดยเป็นเพียงการหารือภายใต้กรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศบิมสเทคเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มสมาชิกบิมสเทค ที่ถูกสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เมียนมา 45% , ศรีลังกา 44% ,บังกลาเทศและไทย 37% , อินเดีย 27% ขณะที่ เนปาลและภูฏาน 10%

ติดป้ายประท้วง “มิน ออง ไลง์”

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ซึ่งมีผู้นำ 7 ประเทศเข้าร่วม โดยช่วงเช้าก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นได้มีผู้ประท้วงชาวไทย ติดป้ายประท้วง “We do not Welcome Murderer Min Aung Hlaing” ที่บริเวณสะพานสาธร ใกล้โรงแรมที่จัดการประชุม แต่เมื่อขึ้นป้ายได้ไม่นานก็มีการเก็บป้ายดังกล่าวออกไป โดยสื่อเมียนมาอย่าง Myanmar Now ได้รายงานข่าวดังกล่าวด้วย

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

UAC เดินหน้าลงทุนเพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน

UAC เดินหน้าลงทุนเพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน หนุนรายได้รวมปี 68 โต 15% และ EBITDA มากกว่า 20%

เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่

เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่ ที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เชื่อมต่อทุกการเดินทางอย่างสมบูรณ์

SPRC ร่วมกับ เชฟรอน มอบบัตรเติมน้ำมันคาลเท็กซ์ ให้ กทม. 

SPRC ร่วมกับ เชฟรอน มอบบัตรเติมน้ำมันคาลเท็กซ์ ให้ กทม. ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

OR มอบ พีทีที สเตชั่น พริวิเลจการ์ด  100,000 บาท แก่ กทม.

OR มอบ พีทีที สเตชั่น พริวิเลจการ์ด มูลค่า 100,000 บาท แก่ กทม. สำหรับภารกิจกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่อาคารถล่ม