
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน กำหนดเงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่
1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา
2) ธุรกิจ Supply Chain
3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ
ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

พิชัย คาดเศรษฐกิจไทยสะดุด 2 ปี
นายพิชัย กล่าวในการประชุมมอบนโยบายสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยภาคธุรกิจรับมือมาตรการภาษีสหรัฐฯ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ว่า การเรียกประชุมสถาบันการเงินของรัฐในครั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ประเมินว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไม่มากไปกว่าประเทศอื่น แต่หากเตรียมมาตรการรองรับได้ดีก็อาจจะได้ประโยชน์ โดยประเมินว่าผลกระทบครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดอย่างน้อย 2 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออก
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐเร่งพิจารณาใน 2 ส่วน คือ 1. ให้ช่วยผู้ส่งออกโดยตรงที่ได้รับผลกระทบ และ 2. ให้พิจารณาแนวทางการให้ความช่วเยหลือไปถึงคู่ค้าของผู้ส่งออก หรือกลุ่มซัพพลายเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยากให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือว่ามีธุรกิจส่งออกอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมไปถึงธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่อาจจะทะลักเข้ามาจากต่างประเทศ
“โดยนอกจากการหารือในวันนี้่ที่ต้องการเน้นในการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกเป็นหลักแล้ว ก็อยากให้มองแนวทางการให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวด้วย” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปจะมีการหารือถึงผลกระทบกับกลุ่มแรงงานว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งงานไว้ได้หรือไม่จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการหารือในการประชุมรอบต่อไป (เฟส2)

ออมสิน ลดดอกเบี้ย 2-3% ช่วยผู้ประกอบการส่งออก
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเป็นตำนำเรื่องออกมสินออฟซอฟท์โลน 1 แสนล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยที่ผ่านมาเดือน ก.ค. 2567 ธนาคารออมสินได้ออกซอฟท์โลน 1 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์และแบงก์รัฐ ในตราดอกเบี้ย 0.01% โดยสถาบันการเงินขอใช้เงินจากซอฟท์โลนจากออกสินไปแล้ว 7.5 แสนล้านบาท โดยยังมีเวลาขอได้จนถึงสิ้นเดิอน ธ.ค. 2568 และต้องอนุมัติให้ลูกค้าภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2569
สำหรับซอฟท์โลน 1 แสนล้านบาท ที่จะออกเพิ่มจะมีเงื่อนไขคล้ายกับซอฟท์โลนที่ผ่านมา แต่ตีกรอบผู้ที่จะกู้ได้ให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น คือ ผู้ส่งออก และซัพพายเชนของผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ
นายวิทัย กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการออมสินที่จะช่วยเหลือผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของธนาคารออมสิน ก็จะทำการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ทันที 2-3% เช่นจากที่เคยเสียดอกเบี้ย 4-6% ก็จะลดลงเหลือ 2-3% โดยจะเริ่มดำเนินการในวันจันทร์ที่ 19 พ.ค. นี้ ตามนโยบายของรองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่ให้แบงก์รัฐแต่ละแห่งหามาตรการเสริมช่วยลูกค้าของธนาคารเพิ่มเติม นอกจากมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลน 1 แสนล้านบาท