‘ดีอี–ETDA’ ดันไทยสู่การค้าข้ามพรมแดนโลก

Date:

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ ทิศทางการผลักดันการค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษ” โดยระบุว่า เวทีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการวางรากฐานอนาคตของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น เพื่อสร้างความร่วมมือในการร่วมกันกำหนดทิศทางที่ชัดเจนต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่การค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษ (Paperless Trade) รวมถึงการร่วมประเมินความพร้อมของประเทศให้สามารถก้าวสู่การเป็นภาคีของความตกลง CPTA ได้อย่างมั่นใจ โดยข้อมูลที่ได้จากเวทีนี้ จะถูกรวบรวมและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTA ลำดับต่อไป

CPTA หรือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษในเอเชียและแปซิฟิก เป็นความตกลงระหว่างประเทศ จัดทำขึ้นภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) ที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนโฉมการค้าระหว่างประเทศในเอเชีย–แปซิฟิก สู่ระบบ “ไร้กระดาษ” (Paperless) อย่างเต็มรูปแบบ โดยเป้าหมายสำคัญของความตกลงนี้ คือการผลักดันให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินธุรกรรมทางการค้าแบบดิจิทัลได้อย่างไร้รอยต่อ เชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อ SMEs ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจในภูมิภาค

สำหรับประเทศไทย กระทรวง ดีอี ภายใต้การดำเนินงานของ ETDA หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความพร้อมของประเทศสู่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTA โดยเฉพาะในด้านกฎหมาย มาตรฐาน และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อให้ไทยสามารถก้าวสู่ระบบการค้าไร้กระดาษได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งหากประเทศไทยเข้าร่วม CPTA อย่างเป็นทางการ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการยกระดับภาพลักษณ์ไทยบนเวทีโลก และสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิก นับเป็นก้าวแรกของการค้าระหว่างประเทศในโลกยุคดิจิทัลที่ไทยไม่ควรพลาด   

“การผลักดันให้ภาครัฐก้าวสู่ระบบไร้กระดาษ คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สู่เป้าหมาย ‘ประเทศไทย 4.0’ และรัฐบาลดิจิทัล โดยความตกลง CPTA คือกลไกสำคัญที่ช่วยเปิดประตูให้ไทยเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจดิจิทัลโลก ทั้งในมิติของความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และมาตรฐานดิจิทัลร่วมกันกับนานาประเทศ และในขณะนี้ ประเทศไทยพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่ระบบ Paperless แล้ว โดยสามารถรองรับการทำสัญญาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ที่ไม่ว่าอยู่ทีไหนก็สามารถติดต่อทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ และครั้งนี้ ประเทศไทย จะร่วมได้แสดงศักยภาพในฐานะประเทศนำร่องสร้างระบบการค้าไร้กระดาษที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และยกระดับความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย   

ด้าน Mr. Yann Duval ผู้แทนคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) ที่ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ประโยชน์และ Use Case ของการเข้าร่วม CPTA” กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก การอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบไร้กระดาษจะไม่เพียงช่วยลดต้นทุนและเวลาในกระบวนการนำเข้า–ส่งออกเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความโปร่งใส และเชื่อมโยงระบบระหว่างประเทศสมาชิกให้แข็งแกร่งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น พร้อมกล่าวชื่นชมประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึง ความตั้งใจอย่างจริงจังในการยกระดับกระบวนการทางการค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ และแสดงความเชื่อมั่นว่า ความตกลง CPTA จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความร่วมมือด้านนโยบายและเทคโนโลยีระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการค้าไร้กระดาษให้เกิดขึ้นจริงในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก 

ในงานยังมี เวทีเสวนาในหัวข้อ “พันธกรณีภายใต้การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTA” โดยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณทศวรรณ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กระทรวง ดีอี , คุณสุทธาทิพย์ วาทิตต์พันธุ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนางานกฎหมายระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, คุณไวนิกา อานามนารถ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, คุณสรรพสุข วิจัยวรกิจ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศ กองบริหารจัดการและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง , คุณขนิษฐ์ ผาทอง ที่ปรึกษา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และคุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย อีกด้วย    

โดย คุณขนิษฐ์ ผาทอง ที่ปรึกษา ETDA ได้เปิดเผยถึงความพร้อมของประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมาไทยเองได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบ Paperless Trade แล้วทั้งในมุมของการมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับ อาทิ การเข้าร่วมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการใช้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ (ECC) และ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transaction Act) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญ ได้แก่ Digital ID, e-Signature, e-Document และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนผ่านระบบ National Single Window (NSW) โดยมี ETDA ที่เป็นหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนทั้งในมุมของการร่วมพัฒนากฎหมาย มาตรฐานเพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศสอดคล้องตามมาตรฐานสากล เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาและเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมความตกลง CPTA โดยมีผู้แทนจากหลากหลายภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อแนวทางดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะที่ได้รับจะถูกนำไปประกอบการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป เพื่อประเมินความเหมาะสมในการขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาระบบสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษในอนาคตของไทยต่อไป-ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เพจ ETDA Thailand 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อดีตรมว.คลัง ยินดีกับ ผู้ว่าธปท. “วิทัย รัตนากร”

อดีตรมว.คลัง ยินดีกับ ผู้ว่าธปท. “วิทัย รัตนากร” บอกเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายความสามารถและจุดยืนของผู้ว่าแบงก์ขาติ

‘พิชัย’ เลือก “วิทัย รัตนากร” นั่งผู้ว่าแบงก์ชาติ

‘พิชัย’ เลือก “วิทัย รัตนากร” นั่งผู้ว่าแบงก์ชาติ มีความรู้ที่หลากหลาย เหมาะกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงหลายด้าน

LINE ดูดวง เผยเทรนด์คนไทย “ต้องการที่พึ่งทางใจ”

LINE ดูดวง เผยเทรนด์คนไทย “ต้องการที่พึ่งทางใจ” บริการขอพร–แก้บน–ทำบุญออนไลน์ ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมืองไทยประกันชีวิต คว้ารางวัลเกียรติยศ

เมืองไทยประกันชีวิต คว้ารางวัลเกียรติยศ “บริษัทยอดเยี่ยมด้านประกันสุขภาพแห่งปี 2568” จากงาน Money & Banking Awards 2025