
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อรักษาการจ้างงาน และวางรากฐาน โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่าย เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจโดยมีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ข้อเสนอโครงการ/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
1.1) โครงสร้างพื้นฐาน
ด้านน้ำ ประกอบด้วย (1) ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง (2) กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศและ (3) พัฒนา/ปรับปรุงระบบประปา
ด้านคมนาคม ประกอบด้วย (1) แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและขาดความเชื่อมโยง (Bottleneck/Missing Link) (2) เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง (3) แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและถนนเสมอระดับ (4) ก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุกเพื่อให้สามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และ (5) ปรับปรุง/พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่การผลิต
1.2 ) การท่องเที่ยว
ด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (1) ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ ห้องพัก สถานที่ป้ายบอกทาง (2) พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว (3) พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว อาทิ การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และ (4) กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง
1.3) ลดผลกระทบภาคการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ
ด้านการเกษตร เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม
ด้านการลดผลกระทบแรงงาน สนับสนุนมาตรการการเงินการคลังสนับสนุนสินเชื่อ
(เฉพาะผู้ประกอบการส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับกองทุนประกันสังคม
ด้านดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและการค้าระหว่างประเทศ
1.4) เศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ
กองทุนหมู่บ้าน (SML) สนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ พัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชนที่เป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในพื้นที่ โครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ
2. การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน
รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการและมาตรการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ ตลอดจนรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ทราบต่อไป
3. แหล่งเงินในการดำเนินโครงการ
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 157,000 ล้านบาท
4. ระยะเวลาดำเนินการ การจัดทำข้อเสนอโครงการและคำของบประมาณ
ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มการพิจารณาโครงการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568 ที่กำหนด โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาตามที่คณะกรรมการฯ ได้มอบหมาย พร้อมทั้งเสนอโครงการดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณในคราวเดียวกันด้วยภายในเดือนพฤษภาคม 2568
5. การพิจารณาอนุมัติโครงการ
คณะกรรมการฯ รวบรวมข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ภายในเดือนมิถุนายน 2568
การขอรับจัดสรรงบประมาณ: หน่วยรับงบประมาณนำส่งโครงการที่คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้สำนักงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณารายละเอียดโครงการและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกรกฎาคม 2568
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีระบุในที่ประชุมสำหรับแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการเร่งรัดการใช้จ่ายผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดำเนินการได้ โดยจะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในทุนมนุษย์และการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาว ภายใต้การติดตามแผนการขับเคลื่อน ฯ อย่างรอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด