
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า GDP ไตรมาส 1 ปี 2568 เติบโต 3.1% YoY แนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญกับ scenario-ception จากความเสี่ยงสงครามการค้าและความเปราะบางภายในประเทศ สภาพัฒน์ฯ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 3.1% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้เล็กน้อยที่ 2.9% ปัจจัยหนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส
แม้ GDP ไตรมาส 1 ขยายตัวเกินคาดเล็กน้อย แต่กลับส่งสัญญาณเชิงลบหลายประการ สะท้อนจาก (i) การส่งออกที่เร่งขึ้น (+13.8% YoY) ไม่ได้หนุนกิจกรรมภายในประเทศ เพราะส่วนใหญ่มาจากการใช้สินค้าคงคลัง แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมแทบไม่ขยายตัว (+0.6%) (ii) การบริโภคภาคเอกชนสูญเสียแรงส่งการเติบโต (+2.6% จาก +3.4% ใน 4Q67) หลังจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสที่ 1 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทสิ้นสุดลง ส่วนเฟสที่ 2 และโครงการ Easy E-Receipt ให้ผลบวกจำกัดต่อการบริโภค และ (iii) การลงทุนภาครัฐที่เติบโตสูง 26.3% ยังไม่สามารถสร้าง Crowding-in effect หรือผลบวกต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งล่าสุดหดตัว -0.9%
สำหรับประมาณการปี 2568 สภาพัฒน์ฯคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 1.8% ในกรณีฐาน ภายใต้ข้อสมมติว่าภาษีศุลกากรจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน โดยภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) เป็นครึ่งหนึ่งของอัตราที่ประกาศไว้ เช่น ไทยถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 18% จากปัจจุบันที่ 10% แต่หากในกรณีที่คงภาษีนำเข้าไว้ที่ 10% (low tariff) GDP ไทยจะเติบโต 2.3% และในกรณีเลวร้าย (high tariff) ซึ่งไทยถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% คาดว่า GDP ปีนี้อาจโตเพียง 1.3% เท่านั้น
วิจัยกรุงศรีประเมินว่าไทยกำลังเผชิญภาวะ “scenario-ception” ซึ่งมีความเสี่ยงจากความหลากหลายของฉากทัศน์การปรับขึ้นภาษีนำเข้า และยังมีความเสี่ยงซ้อนจากความเปราะบางภายในประเทศ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่แน่นอนของประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจ และความล่าช้าของการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยว ปัจจัยด้งกล่าวล้วนเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตและอาจเป็นปัญหาที่ฝังลึกลงสู่ระบบเศรษฐกิจไทย
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังต้องรอความชัดเจน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 55.4 จาก 56.7 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับ (i) เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาด โดยหลายหน่วยงานทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ (ii) ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า และ (iii) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ
การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณเชิงลบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด (ปี 2562 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5) ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางซึ่งเผชิญกับแรงกดดันสำคัญจากปัจจัยภายในและภายนอก แม้ล่าสุดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนผ่อนคลายลงบ้าง หลังจากทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงปรับลดภาษีลงชั่วคราว 115% เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่สถานการณ์โดยรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง หากการเจรจารอบต่อไปไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมอาจสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก นอกจากนี้ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ นับเป็นประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแม้เห็นสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี จากผลกระทบของนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้รัฐบาลอาจมีการทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีวงเงินอยู่ราว 1.57 แสนล้านบาท เพื่อนำมาปรับใช้กับโครงการที่มีความคุ้มค่าลามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า