
นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ตอบโต้กรณีที่ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2568
นายวรวงศ์ กล่าวว่า ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งผมเห็นพ้องตรงกันกับท่านว่า ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินของประเทศ จึงต้องพิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ แคนดิเดททั้งสองท่านผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย เป็นผู้มีความสามารถดีเยี่ยม ทั้งสองท่านเหมาะสมกับตำแหน่งทุกประการ
“ส่วนตัวผมยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลางเสมอมา และเชื่อว่าความเป็นอิสระนั้นสามารถเดินร่วมรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน” นายวรวงศ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นพ้องด้วยกับบางข้อความในจดหมาย โดยเฉพาะกรณีที่ ดร.ธาริษา ระบุว่า หากผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ “ใกล้ชิดรัฐบาล” จะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเสื่อมถอย ซึ่งถือเป็นการตั้งธงข้อสรุปล่วงหน้าโดยขาดหลักฐาน และเป็นการเหมารวมโดยไม่ยุติธรรม
“ความใกล้ชิดกับรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าจะขาดความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเสมอไป ตัวอย่างเช่น คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ท่านปัจจุบัน ก็เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากลว่าเป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นอิสระจากรัฐบาลอย่างแท้จริง” นายวรวงศ์กล่าว
นอกจากนี้ นายวรวงศ์ยังชี้ว่า การทำงานร่วมกันระหว่าง ธปท. และรัฐบาลภายใต้เป้าหมายเศรษฐกิจร่วมกัน ไม่ได้ลดความเป็นอิสระ หากแต่สามารถส่งเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ ปัจจุบัน รัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2567 สูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท และในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 97 จากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน หาก ธปท. มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับรัฐบาล จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นเป็นทวีคูณ
โต้ มายาคติ “ค่าเงินอ่อน-ดอกเบี้ยต่ำ” คือเศรษฐกิจไม่ดี
นายวรวงศ์ยังแสดงความเห็นว่า การยกตัวอย่างของ ดร.ธาริษา ที่มองว่าค่าเงินบาทอ่อนและดอกเบี้ยต่ำสะท้อนภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เป็นการสร้างมายาคติที่คลาดเคลื่อน พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยเป็น “เศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด (Small open economy)” ซึ่งพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูง การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับเหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัว
“ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจเล็กและเปิด (Small open economy) เงินเฟ้อไทยจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply) ที่มาจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น-ลง ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของนโยบายการเงินที่จะควบคุมได้” นายวรวงศ์อธิบายเพิ่มเติม
“ในอดีต ดร.ธาริษา เคยใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงและเงินบาทแข็ง ส่งผลให้ Nominal GDP เติบโตลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 3 กว่า ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าของ ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล ที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี” นายวรวงศ์กล่าว พร้อมระบุว่าเมื่อคิดในรูปของ Real GDP ช่วง ดร.ธาริษา ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.6 ต่อปี ขณะที่สมัย ม.ร.ว. ปรีดียาธร อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ส่วนในปัจจุบันภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ทุกไตรมาส
นอกจากนั้น จากข้อมูลพบว่า สมัย ดร.ธาริษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท. ค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 37.66 เป็น 30.55 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งจากร้อยละ 43.5 เป็น 57.9
เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่จับตา “เงินเฟ้อติดลบ”
ท้ายสุด นายวรวงศ์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงขยายตัว โดยตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2567 จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ติดต่อกัน 3 ไตรมาส และคาดว่าไตรมาส 2 ของปี 2568 ก็จะยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือภาวะเงินเฟ้อติดลบ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน อยู่ในช่วงระหว่าง -0.57% ถึง -0.22% โดยแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (YoY) จะติดลบ แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกเล็กน้อย และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปรายเดือนเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ยังคงมีลักษณะลดลงสลับกับเพิ่มขึ้นบ้างจึงยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนมิถุนายนที่ติดลบถึง -4.0% ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการค้าในครึ่งปีหลัง เป็นสัญญาณปัจจัยลบที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
“ผมอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง” นายวรวงศ์กล่าวทิ้งท้าย
เปิดจดหมายธาริษา

ก่อนหน้านี้ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธยาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 รายละเอียดว่า
“ขณะนี้ท่านมีรายชื่อแคนดิแดทผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในมือสองคน อยู่ที่ท่านว่าจะเสนอใครต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป เรื่องความเหมาะสมมีการพูดกันมากแล้ว ดิฉันใคร่ขอเตือนสติท่านเพียงประเด็นเดียวว่า คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้ว่าการธนาคารกลางคือ การทำนโยบายอย่างเป็นอิสระจากการเมือง หรือที่เราเรียกว่า Central Bank Independence ซึ่งเป็นสิ่งที่จะธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายของธนาคารกลาง และมีผลพวงถึงความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศด้วย ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางและรัฐบาลจะต้องขัดแย้งกัน ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายของการทำนโยบายระยะสั้นยาวไม่เท่ากัน
การทำนโยบายของธนาคารกลางซึ่งมุ่งเน้นผลในระยะยาว จึงเป็นการถ่วงดุลไม่ให้มีแต่นโยบายระยะสั้นจนเป็นผลเสียในระยะยาว การเป็นอิสระจากการเมือง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เราเคยเห็นตัวอย่างแล้วจากต่างประเทศว่าการขาดความอิสระของธนาคารกลางสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างไร เช่นในตุรกีในสมัยประธานาธิบดี Erdogan การแทรกแซงทางการเมืองทำให้นโยบายการเงินขาดความเป็นอิสระ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเกินไปเป็นเวลานาน เป็นผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก
คนทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยซึมซับถึงหลักการสำคัญข้อนี้ดี ตรงกันข้าม ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจคุ้นเคยกับการรับนโยบายของรัฐบาลไปทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อเกิดความเสียหายรัฐบาล ก็ต้องชดเชยให้ (ตามกติกาการกันสำรองหนี้สูญหรือเพิ่มทุนของการกำกับดูแลของ ธปท.) จึงไม่มีความเสี่ยงกับองค์กรในการรับนโยบายของรัฐบาลมาทำ ซึ่งต่างจากกรณีขององค์กรเช่น ธปท. อย่างมาก เพราะถ้าเกิดความเสียหายคือความเสียหายของประเทศชาติ
ดังนั้น ถ้าท่านเลือกผู้ว่าการที่ประสบการณ์การทำงานเดิมต้องสนองนโยบายของรัฐจนเป็นความเคยชิน จึงยากที่จะคาดหวังให้ทำหน้าที่ของผู้ว่าการอย่างเป็นอิสระ ที่จริงยังไม่ต้องทำนโยบายอะไร เพียงแค่ประวัติและประสบการณ์ที่ก่อให้เกิด perception ว่าผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และเคยสนองนโยบายของรัฐบาลมาตลอดในฐานะผู้บริหารของธนาคารของรัฐ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อสถาบันนี้ก็จะเสื่อมถอยไปทันที ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศก็เลือกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว
ท่ามกลางความท้าทายที่รุมเร้าจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงอยู่ที่ระดับ 87.5% และยังมีผลกระทบของสงครามการค้าหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 36% ดิฉันหวังว่าท่านจะไม่ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อธนาคารกลางเสื่อมถอยไปอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศชาติหดหายไปมากยิ่งขึ้นอีก”
จากใจ ตัวเต็งผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน โพสต์เฟสบุ๊ก “Vitai Ratanakorn” ระบุว่า
จากใจ…ของผม
ที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็น CEO ในหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละตำแหน่งย่อมมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป // ประสบการณ์และตัวตนที่ชัดเจน ทำให้เชื่อมั่นว่า สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ บนหลักการ ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ปราศจากอำนาจครอบงำจากกลุ่มใดๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น และขอยืนยันในจุดยืนที่มั่นคงนะครับ – with humility & respect krub
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2568 คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้สรุปและเสนอ 2 รายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกส่งให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง พิจารณา ประกอบด้วย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.
คาด พิชัย เสนอชื่อผู้ว่า ธปท. ให้ครม.เห็นชอบ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 ก.ค. 2568 ยังไม่สามารถนำเสนอรายชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติยังไม่เสร็จสมบูรณ์
“สอบถามสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แล้ว แจ้งว่า ยังมีหน่วยงานที่ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดการตรวจสอบคุณสมบัติมาให้ จึงยังเสนอให้ ครม. ในวันที่ 8 ก.ค. ไม่ได้ ต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้นทั้งหมดก่อน” นายพิชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี นายพิชัยปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ว่า ได้มีการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวเรียบร้อยแล้วหรือยัง และผู้ถูกเลือกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2568 คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้สรุปและเสนอ 2 รายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกส่งให้ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง พิจารณาแล้ว โดยเบื้องต้นคาดว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ประกอบด้วย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.