ดัชนีเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 3 ขยับรับจับจ่ายฟื้น

Date:

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มอบหมาย นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยในการแถลง “ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 3/2565 และคาดการณ์อนาคต” โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” ร่วมกับ “ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ว่า ภาพรวมผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุน และ SMEs สามารถปรับตัวทางธุรกิจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการทำตลาด การบริหารจัดการต้นทุน รองรับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ภาพรวมกำไรของผู้ประกอบการ SMEs ในปัจจุบันต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เฉลี่ยประมาณ 21.94% โดยเฉพาะกลุ่มขนาดย่อม (Micro) และภาคบริการ ผลกำไรฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น

ดร.มยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง ผู้อำนวยการโครงการ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเสริมว่า จากการสำรวจ SMEs จำนวน 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 56.82 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งอยู่ในระดับ 56.00 จากปัจจัยบวกกำลังซื้อและการจับจ่ายภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความกังวลต่อภาวะต้นทุนสูงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

แนวโน้มความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ SMEs เชื่อมั่นว่าผลประกอบการและคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันส่งผลให้ปริมาณการผลิต และสภาพคล่องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ความกังวลจากภาวะต้นทุนสูงคลี่คลายลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม สัดส่วน SMEs ที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่ม หรือจ้างงานเพิ่มยังอยู่ในระดับต่ำ

ดร.มยุขพันธุ์ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น พบว่า 97.60% ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต้นทุนค่าขนส่งและราคาวัตถุดิบ กำลังซื้อของลูกค้าลดลง ซึ่งที่ผ่านมา กว่า 53.07% มีการปรับตัว ผ่านการขึ้นราคาสินค้าและบริการ ส่วน 36.48% บริหารจัดการลดต้นทุน ได้แก่ การหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทน หรือหา Supplier รายใหม่ รวมถึงลดขนาดและปริมาณ และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อันดับหนึ่ง คือ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลและค่าสาธารณูปโภค รองลงมา คือ การควบคุมราคาวัตถุดิบ และต้องการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม โดยผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ควบคู่กับการให้คำปรึกษาช่วยปรับปรุงลดต้นทุน หรือปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีแนวคิดนำ BCG Model มาใช้กับธุรกิจ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตหรือบริการ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ลดการปล่อยของเสียหรือมลพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม SMEs ที่นำแนวคิด BCG Model มาปรับใช้กับธุรกิจยังมีสัดส่วนน้อย หรือมีเพียง 2.6% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และประโยชน์ที่ได้รับจากการนำนโยบาย BCG Model ไปปรับใช้กับธุรกิจ และควรมีมาตรการเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มีการนำนโยบาย BCG Model ไปปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

นายโมกุล กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของ SMEs บางกลุ่ม ทั้งการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และความกังวลต่อภาวะต้นทุน ดังนั้น ธพว. จะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ SMEs รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อจะช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SMEs ได้ทันท่วงที โดยเฉพาะดูแลต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถวางแผนบริหารจัดการได้เหมาะสม ควบคู่กับส่งเสริมการเข้าสู่ BCG Model ซึ่งมีส่วนช่วยลดต้นทุนของธุรกิจ พร้อมสนับสนุน “เติมทุน” ด้วยสินเชื่อ BCG Loan วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท เงื่อนไขพิเศษดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนนานถึง 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี ควบคู่กับสนับสนุนด้าน “การพัฒนา” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการ “SME D Coach” จัดกิจกรรมเติมความรู้ และให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงาน

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงานพร้อมยกระดับการบริการ

เคทีซีปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซีรวมพลังสมาชิกปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซี มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซี รวมพลังสมาชิกบัตรเครดิตส่งต่อโอกาส มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก เส้นทางเมืองรองได้รับความนิยมมากขึ้น