ปลุกจิตสำนึกป้องกันการฆ่าตัวตาย

Date:

บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด บริษัทยาของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (NYSE: JNJ) (บริษัท) ร่วมสนับสนุนศิลปินไทยบนสื่อโทรทัศน์ ดนตรี และโซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มความตระหนักและให้ความรู้แก่คนไทยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในประเทศไทย โดยทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตเพื่อจัดการสัมมนาในรูปแบบการอภิปรายแบบคณะโดยมีนักสร้างคอนเทนต์และศิลปินร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อหารือเรื่องวิธีการลดการตีตราผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและวิธีการใหม่ๆในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตให้ผู้คนเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

คนไทยประมาณ 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในแต่ละปีในประเทศไทย และราว 53,000 (คิดเป็น 145 คนต่อวัน) คนพยายามฆ่าตัวตาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 4,000 คนในแต่ละปี[i] การสำรวจล่าสุดยังพบว่าคนหนุ่มสาวมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ โดยกรมสุขภาพจิตรายงานว่า 8% ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวันป้องกันฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2565 ให้คำกล่าวเปิดว่า “ในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกปีนี้ เราต้องการให้สังคมไทยสามารถไปต่อข้างหน้าได้ด้วยการรับฟังเสียงใจของตัวเองผ่าน แคมเปญ ‘Mind Voice เสียงที่ใช้ใจฟัง’ ให้ทุกคนเห็นว่าทุกคนในสังคมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติในวันพรุ่งนี้ และลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด”

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า “เดิมที่อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยนับว่าเกือบจะสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาคนตกงานทำให้พวกเขาขาดรายได้เพื่อประคองชีพจนอาจทำให้ตัดสินใจคิดสั้นในที่สุด ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีช่องทางการติดต่อต่างๆเพื่อการเฝ้าสังเกตกลุ่มคนเสี่ยงอย่าง HOPE Taskforce : ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่จะคอยทำหน้าที่เฝ้าสังเกตกลุ่มคนเสี่ยงบนโซเชียลมีเดีย อีกทั้งทางกรมสุขภาพจิตได้จัดให้มีช่องทางการติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต อาทิ บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แอพพลิเคชันคุยกัน (KhuiKun) ที่มีให้บริการบนแอพพลิเคชันไลน์เป็นบริการสุขภาพจิตให้การปรึกษาเบื้องต้นในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพจิต และ Sati App แอพพลิเคชันแพลตฟอร์มที่ให้คนสามารถเข้าถึงผู้ฟังด้วยใจง่ายขึ้นผ่านทางโทรศัพท์มือถือ”

ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร ผู้แทนสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ยังคงมีการตีตราผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือปัญหาด้านสุขภาพจิตในสังคมเราซึ่งนั่นอาจทำให้กลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะฉะนั้นการได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา พวกเราสามารถช่วยเหลือเพื่อนหรือคนในครอบครัวได้โดยการสังเกตพฤติกรรมต่างๆของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียเช่นการลบหรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปสีดำ สังเกตอาการว่าพวกเขาวิตกกังวลและหงุดหงิดง่ายหรือไม่ หรือแม้แต่สังเกตการนอนหลับของพวกเขาว่ามีปัญหาในการนอนหลับหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเราต้องให้พวกเขารับรู้ว่าเราพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนเขาทุกเมื่อ”

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ประธานชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย (TSAD) และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “ภาวะซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษาภาวะนี้ให้ครอบคลุมโดยการมองจากหลายแง่มุม ด้วยการใช้แบบจำลอง Biopsychosocial (ชีวะ-จิต-สังคม) เราสามารถระบุปัจจัยทางชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกตินี้ได้ ตัวอย่างเช่น ว่าด้วยปัจจัยทางชีววิทยา การวิจัยชี้ให้เห็นว่ายีนมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายของภาวะซึมเศร้าจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้”

คุณวีรวัฒน์ มีแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด กล่าวว่า “แจนเซ่น มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความท้าทายของกลุ่มคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder: MDD) ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 900,000 คนทั่วประเทศไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า[ii] เราเชื่อว่าหากเราช่วยให้ผู้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภาระของภาวะซึมเศร้าประเภทต่างๆ รวมถึงโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (Treatment Resistant Depression: TRD) และความคิดอยากฆ่าตัวตาย เราทุกคนจะสามารถดูแลตัวเราเองและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น”

ปัจจุบันมีการสร้างเพจและกลุ่มบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นจำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องปัญหาสุขภาพจิตกำลังเป็นประเด็นร้อนและอาจมีผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด หนึ่งในเพจเหล่านี้คือเพจ นวล ที่มีเจ้าของเพจผู้ซึ่งเป็นนักวาดใช้ศิลปะในการสื่อสารประเด็นทางสังคมต่างๆ และ ”สาเหตุและผลกระทบของภาวะซึมเศร้า” ถือเป็นประเด็นที่ เพจ นวล หยิบขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งช่วยในการสร้างการรับรู้ในหมู่คนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ศิลปินในค่ายเพลง เทโร มิวสิค ยังได้ร่วมรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพจิตด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ เทโร ได้ร่วมทำกิจกรรมและโครงการต่างๆ อย่าง “Sound of Happiness”, “In The Mood For Love”, “In The Mood For Music” และ “Note To My Younger Self” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการรักษาและส่งเสริมผู้ที่มีภาวะทางสุขภาพจิตและสร้างบรรยากาศที่สื่อถึงความรักและความห่วงใยในสังคมไทย ล่าสุด ศิลปินค่าย เทโร ได้มีโอกาสทำแคมเปญ ‘Mind Voice’ ร่วมกับกรมสุขภาพจิตและชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทยเพื่อนำเสนอมุมมองของศิลปินเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยแคมเปญ ‘Mind Voice’ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 10 กันยายน มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรับรู้ก่อนถึงวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เริ่ม 16 ม.ค. 68 “ Easy E-Receipt 2.0 ”

เริ่ม 16 ม.ค. 68 “ Easy E-Receipt 2.0 ”ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

แจกเงินหมื่นเฟส 2 วันที่ 27 ม.ค. นี้

แจกเงินหมื่นเฟส 2 วันที่ 27 ม.ค. นี้ ผู้สูงอายุ 4 ล้านราย เช็คสิทธิ์ได้ 22 ม.ค. 68 แนะเร่งผูกพร้อมเพย์

“สุริยะ” หารือทูตอิตาลี จับมือยกระดับ ระบบรางไทย

“สุริยะ” หารือทูตอิตาลี จับมือยกระดับระบบรางไทย - สานต่อปรับปรุงขบวนรถไฟให้บริการระดับ Luxury สนับสนุนเทคโนโลยี - นวัตกรรม

กบข. รับรางวัล ผลงานโดดเด่นการป้องกันภัยไซเบอร์

กบข. รับรางวัล Prime Minister Awards ผลงานโดดเด่นการป้องกันภัยไซเบอร์