เงินเฟ้อไทยไปต่อ…หรือพอแค่นี้

Date:

EIC คาดเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงในระยะถัดไป แต่ยังอยู่ในระดับสูงจากหลายปัจจัย

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เงินเฟ้อไทยเริ่มส่งสัญญาณทรงตัว โดยเงินเฟ้อไทยล่าสุดเดือนสิงหาคม ขยายตัว 7.9%YOY จากเดือนก่อนหน้าที่ 7.6%YOY ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ +0.05%MOM จาก -0.16%MOM ในเดือนกรกฎาคมเทียบกับเดือนมิถุนายน สาเหตุหลักจากราคาพลังงาน ที่ขยายตัวชะลอลง สะท้อนสัญญาณเงินเฟ้อไทยที่เริ่มทรงตัวและอาจผ่านจุดสูงสุดแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของเงินเฟ้อพบว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาพลังงานและอาหารสด) ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารและสินค้าหลายชนิดที่ทยอยปรับขึ้นราคาตามการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิต ที่มากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สอดคล้องกับผลการศึกษาของ EIC ที่พบว่าเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์เริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นบ้างแล้วในช่วงหลัง

EIC คาดเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงในระยะถัดไป แต่ยังอยู่ในระดับสูงจากหลายปัจจัย ในระยะถัดไป EIC มองเงินเฟ้อจะเริ่มทยอยปรับลดลงจนกลับมาใกล้กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีหน้าจากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เริ่มชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา แต่เงินเฟ้อจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาพลังงานที่ยังสูง การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่จะมีมากขึ้นตามการฟื้นตัว
ของเศรษฐกิจ และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนปุ๋ยที่สูงขึ้น นโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียและปัจจัยฐาน ราคา LPG และค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

รวมถึงการขาดแคลนแรงงานต่างชาติและการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำปลายปีนี้ที่จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตในวงกว้าง โดย EIC ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5% ทั่วประเทศตั้งแต่ตุลาคมนี้ จะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีหน้าเพิ่มขึ้นราว 0.2%

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบกำลังซื้อครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่ายังอยู่ในระดับสูงทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง (รายได้หักเงินเฟ้อ) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติ COVID-19 และมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานสูงถึง 53% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค
ของ EIC ที่พบว่าราว 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามเผชิญปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย, 77% ประสบปัญหาการออมลดลงหรือเก็บออมไม่ได้เลย และ 44% เชื่อว่ารายจ่ายจะเพิ่มในอัตราที่มากกว่ารายได้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ทำให้ภาคครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องลดหรือชะลอการใช้จ่าย นำสภาพคล่องที่มีอยู่ออกมาใช้ หรือก่อหนี้ใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กดดันภาพรวมการบริโภคของประเทศ ภาครัฐจึงควรมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

สลากออมทรัพย์ ธอส. ชุดพิมานมาศ อายุ 2 ปี

ธอส. เปิดจำหน่าย “สลากออมทรัพย์ ธอส. ชุดพิมานมาศ ปี 2568” อายุสลาก 2 ปี ลุ้นรับเงินรางวัลใหญ่ ตลอด 24 งวด

LH Bank ผนึก LH Fund จัดสัมมนาใหญ่ 

LH Bank ผนึก LH Fund จัดสัมมนาใหญ่ เจาะลึกเศรษฐกิจการลงทุนไต้หวัน

บลจ.กสิกรไทย ขานรับ Easy E-Receipt 2.0

บลจ.กสิกรไทย แนะกลยุทธ์จัดพอร์ต Core & Satellite พร้อมรับสิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0

กฟผ. ชวนสัมผัส 8 เขื่อนทั่วไทย เติมพลังธรรมชาติ

กฟผ. ผนึกกำลัง ททท. ชวนสัมผัส 8 เขื่อนทั่วไทย เติมพลังธรรมชาติ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน