นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เข้ารับรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2565 รวม 4 รางวัล จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบออนไลน์ “รางวัลเลิศรัฐ” ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มอบให้กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ
นายลวรณ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้ กรมสรรพากรได้รับ “รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ หรือ รางวัล Super เลิศรัฐ”ที่มีการมอบรางวัลนี้เป็นปีแรกและเป็นรางวัลสูงสุดของรางวัลเลิศรัฐ โดยเป็นรางวัลที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มอบให้กับหน่วยงานที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนสำเร็จมีความโดดเด่นได้รับรางวัลเลิศรัฐมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นหน่วยงานต้นแบบที่สร้างคุณค่าในการสร้างสรรค์ผลงานการปฏิบัติราชการจนมีความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยกรมสรรพากรเป็น 1 ใน 2 หน่วยงานที่สามารถคว้า “รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ หรือ รางวัล Super เลิศรัฐ” (จากหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 180 หน่วยงาน) และในปีนี้ยังได้รับรางวัล เลิศรัฐอีก 3 รางวัล ประกอบด้วย
1.รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับพัฒนาจนเกิดผล (Significance) โดยกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานเดียวในปี 2565 ที่ได้รับรางวัลระดับนี้ และได้รับรางวัลนี้ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน เป็นรางวัลที่พิจารณาใน 6 ด้าน ประกอบด้วย ผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ การวางแผนกลยุทธ์ การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมดำเนินการ การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารองค์ความรู้ และการบริหารการจัดกระบวนการทำงาน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่การเป็นระบบราชการ4.0ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่เพื่อพลิกโฉม (Transform) องค์กรให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง (Credible and Trusted Government) โดยกรมสรรพากรได้พัฒนาองค์กรใน 3 มิติ คือ 1) การเป็นภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน (Open and Connected) 2) การทำงาน ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) และ 3) การเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart and High Performance) ที่ขับเคลื่อนด้วยการสานพลังทุกภาคส่วน (Collaboration) การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และการปรับเข้าสู่การเป็นกรมสรรพากรดิจิทัล (RD Digital)
2.รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ประเภท เปิดใจใกล้ชิดประชาชน ด้วยผลงาน “บริการตรงใจจากการเปิดใจใกล้ชิดประชาชน” โดยได้รับรางวัลนี้ติดต่อกัน 3 ปีซ้อนเช่นกัน
กรมสรรพากรให้ความสำคัญกับการเปิดระบบราชการ (Open Government)โดยนำมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายหลัก “บริการตรงใจ” ด้วยการยึดผู้เสียภาษี เป็นศูนย์กลาง (Taxpayer Centric) ขับเคลื่อนด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน เพื่อให้กระบวนการให้บริการมีคุณภาพตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งกรมสรรพกรได้แสดงให้เห็น อย่างชัดเจน จากการพัฒนานวัตกรรมบริการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax หรือ e-WHT) ระบบ My Tax Account ระบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp Duty)
3.รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จากผลงาน “ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax หรือ e-WHT) ” ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax หรือ e-WHT) เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยี Web Application โดยออกแบบและพัฒนานวัตกรรมบริการจาก pain point ของผู้เสียภาษีอย่างแท้จริงเป็นที่แรกของโลกที่จัดทำระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการดำเนินการโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ช่วยลดภาระของผู้เสียภาษี (ลดขั้นตอนการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลดต้นทุน ในการจัดทำเอกสารรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย) ทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย เพิ่มความโปร่งใส โดยผู้หักภาษี (ผู้จ่ายเงิน) และผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้รับเงิน) สามารถตรวจสอบหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment อีกด้วย
นายลวรณ กล่าวว่า “รางวัลอันทรงเกียรติ ที่กรมสรรพากรได้รับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าหน้าที่สรรพากรทุกคนและทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติราชการจนบรรลุผลสำเร็จ และยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคลากรของกรมสรรพากรเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้กรมสรรพากรไม่หยุดนิ่ง ที่จะขับเคลื่อนองค์กร พัฒนา และยกระดับการให้บริการที่ดีกับผู้เสียภาษีและทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส พร้อมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้และพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความยั่งยืนสืบไป”