ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า ตลาดรถยนต์ไทยกำลังกลับมาคึกคักเพราะอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน 3.9% สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เพิ่มขึ้นตามแรงสนับสนุนจากโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ที่จัดขึ้นเพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างไรก็ดี การแข่งขันในตลาดรถยนต์ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อแนวโน้มการเลือกซื้อพาหนะส่วนตัวของผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง SCB EIC Consumer survey พบว่า โดยภาพรวมแล้ว ยานยนต์ที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงสุดกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม “รถ SUV” และ “รถเก๋งขนาดกลาง” ขณะที่ “เครื่องยนต์ประเภทสันดาป” ยังคงเป็นตัวเลือกหลักสำหรับแผนการซื้อยานยนต์ในระยะ 1-2 ปีนี้ อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกตัวเลือกการขับขี่โดยจำแนกตามข้อมูลประชากร อาทิ เพศ และระดับรายได้ จะพบรูปแบบและแนวโน้มความสนใจยานยนต์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
-กลุ่มตัวอย่างเพศชายและหญิงส่วนใหญ่ยังคงนิยมยานยนต์ในระบบสันดาป ขณะที่กลุ่ม LGBTQIA+ ค่อนข้างตื่นตัวกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเพราะถูกดึงดูดจากเทคโนโลยีการขับขี่และรูปลักษณ์ภายนอกที่ทันสมัย
-ระดับรายได้ครัวเรือนมีส่วนทำให้ความสนใจต่อยานยนต์แต่ละประเภทแตกต่างกันไป โดยยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมในครอบครัวที่มีรายได้สูง ขณะที่รถสันดาปยังคงเป็นตัวเลือกหลักสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาขายโดยเฉลี่ยของรถ EVs ที่สูงกว่า ประกอบกับสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุม อีกทั้ง การติดตั้ง EV Charger ณ ที่พักอาศัย มีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีต้นทุนสูง
ตลาดรถมือ 2 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่เริ่มมีความเสี่ยงและความท้าทายด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัว โดยจากผลสำรวจพบว่า รถมือ 2 ถือเป็นขวัญใจของผู้ประกอบอาชีพอิสระ เนื่องจากบางส่วนซื้อไว้เพื่อทำธุรกิจ ทั้งการค้าขายและเพื่อรับส่งคนและสิ่งของบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางกลุ่มวางแผนซื้อรถมือ 2 ไว้ใช้ชั่วคราว เพื่อรอเปลี่ยนเป็นรถ EVs ในอนาคต ซึ่ง SCB EIC Consumer survey พบคุณลักษณะร่วมบางประการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้แก่
1) มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้วางแผนซื้อรถมือ 2 เพื่อใช้งานระยะยาว
และ 2) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถ EVs ทั้งด้านสมรรถนะการขับขี่และความคุ้มค่า รวมถึงรอความพร้อมของสถานีชาร์จให้ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้คาดว่าอุปสงค์ในตลาดรถมือ 2 จะยังสามารถเติบโตได้ แต่ความเสี่ยงของธุรกิจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจาก
1) อุปสงค์ที่เปราะบางเพราะพึ่งพากำลังซื้อจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้ผันผวนเป็นหลัก
2) การเปิดตัวรถ EVs รุ่นใหม่ ๆ ที่ทำให้รถมือ 2 ตกรุ่นและมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ธุรกิจเต็นท์รถจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การขายเพื่อให้สามารถเข้าถึงและดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับแผนบริหารจัดการสต็อกรถโดยเน้นเลือกรถรุ่นที่ตอบโจทย์ฐานลูกค้าหลัก
ยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มได้รับความนิยมในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งความครอบคลุมของสถานีชาร์จคือปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นความสนใจของตลาดและทำใหอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จากผลสำรวจพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างตื่นตัวกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) ส่วนหนึ่งเพราะราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเทรนด์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการครอบครองรถ EVs ในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก แต่คาดว่าในระยะถัดไป ตลาดรถ EVs จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความสนใจและความเชื่อมั่นที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากประสบการณ์ตรงจากผู้ใช้งานที่ระบุว่าการขับขี่รถ EVs ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการบำรุงรักษา ขณะที่สมรรถนะการขับขี่ก็ดีขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ ระบบ Autopilot นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่จะสามารถเติบโตเกาะไปกับกระแส EVs นี้ได้ เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกระแส EVs มากขึ้น อาทิ อู่ซ่อมเฉพาะทาง ร้านขายอะไหล่ รวมถึงร้านขายอุปกรณ์ตกแต่ง ขณะที่มาตรการรัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ถือว่ามีตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดี แต่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเร่งสร้างสถานีชาร์จให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น