นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงได้มีการออกมาตรการจูงใจเพื่อให้มีการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังส่งเสริมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตแบตเตอรี่ การประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการนำยานยนต์ไฟฟ้าไปใช้ขนส่งในระบบสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมเปิดตัวศูนย์ทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้ากำลังสูง 150 กิโลวัตต์ ตามมาตรฐาน IEC 61851 ณ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เริ่มให้บริการทดสอบ 15 ก.ค.2565 เป็นต้นไป
การร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดันระบบนิเวศน์ของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยของระบบชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารสาธารณะ ทั้งบนถนนและแม่น้ำให้ได้ระดับมาตรฐานสากล ซึ่งสถานีชาร์จ นอกจากต้องมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่การเดินทางแล้ว สิ่งสำคัญคือ “มาตรฐาน” ที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยศูนย์ทดสอบฯจะเปิดให้ผู้ผลิตหัวชาร์จไฟฟ้านำผลิตภัณฑ์มาทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐาน ครอบคลุมการทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้าแบบกระแสตรงขนาดใหญ่ 150 กิโลวัตต์ สำหรับการใช้งานของรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หัวรถลากไฟฟ้า และเรือเฟอร์รี เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการส่งหัวชาร์จไปรับรองมาตรฐานที่ต่างประเทศ ลดต้นทุนในการผลิต ลดระยะเวลาในการพัฒนา ส่งผลให้ราคาของหัวชาร์จไฟฟ้าไม่สูงมาก สามารถแข่งขันในตลาดได้
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือของสองหน่วยงานดังกล่าว ที่ได้ขับเคลื่อนงานสำคัญและเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อนึ่ง ศูนย์ทดสอบฯแห่งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรมเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปอีกด้วย ขณะเดียว รัฐบาลยังได้ส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อมากขึ้น โดยกระทรวงพลังงานได้ศึกษาจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า กำหนดเป้าหมายให้ปี 2573 ควรมีสถานี 1,394 แห่ง และมีเครื่องอัดประจุไฟรวม 13,251 เครื่อง ปัจจุบันมี 944 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มี.ค.2565)