นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มาตรการรถ EV 3.0 ที่ใช้ในปี 2565-2566 ได้รับการตอบรับอย่างดี มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 23 บริษัท มีการใช้สิทธิขายรถไปประมาณ 1 แสนคัน เป็นเงินที่กรมสรรพสมิตจ่านชดเชยให้ผู้ประกอบการ 1.4 หมื่นล้านบาท
เงื่อนไข มาตรการรถ EV 3.0 ประกอบด้วย กรมสรรพสามิตลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ให้เงินสนับอุดหนุนคันละ 7 หมื่นบาท และ 1.5 แสนบาท ตามขนาดความจุของแบตเตอรี่
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ชดเชยเท่ากับยอดที่ขายไปได้ โดยหากผลิตในปี 2567 ให้ผลิตชดเชย 1 เท่าของรถที่ขายไปได้ หากผลิตในปี 2568 ต้องผลิต 1.5 เท่าของรถที่ขายไปได้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการเร่งให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทย
นายเอกนิติ กล่าวว่า จากเงื่อนไขดังกล่าว คาดว่า ผู้ประกอบการจะเร่งผลิตรถยนต์ EV ในประเทศ ตามเงื่อนไขให้ได้มากที่สุดเท่ากับยอดที่ขายไปได้ประมาณ 1 แสนคันในมาตรการ EV 3.0 ซึ่งอาจจะผลิตล่าช้าไปในปี 2568 ทำให้ต้องผลิตรถยนต์ตามเงื่อนไข 1.5 เท่าของยอดที่ขายไป โดยการผลิตรถ EV ของผู้ประกอบการสามารถผลิตขายทั้งในประเทศ หรือ ส่งออกนอกประเทศก็ได้
“คาดว่าในปี 2567 จะมีการผลิตรถ EV ในประเทศหลายหมื่นคัน ทำให้เกิดการลงทุนการ การจ้างงาน และทำให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของโลก” นายเอกนิติ กล่าว
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สำหรับมาตรการ EV 3.5 ที่เริ่มมีผลปี 2567-2569 เหมือนกับ EV 3.0 ต่างกันที่เงินชดเชย ในปี 2567 รัฐบาลจะอุดหนุนให้คันละ 1 แสนบาท และในปี 2568 และ 2569 ชดเชยให้คันละ 5 หมื่นบาท โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 8 ราย