ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สองรายจากญี่ปุ่น ได้ลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในด้านยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและการเคลื่อนที่อัจฉริยะ เพื่อก้าวสู่การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง finbiz by ttb มองเห็นโอกาสและความท้าทายสำหรับ SME ไทย จากการแข่งขันของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันเช่นกัน
การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
การจับมือของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น สะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจากสถิติของกรมการขนส่งทางบกในปี 2566 มีการจดทะเบียนใหม่ของรถพลังงานไฟฟ้าล้วน (BEV) ทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 76,316 คัน คิดเป็น 76.19%จากประเภทรถทั้งหมด ซึ่งหากรวมประเภทยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ทั้งหมดในปี 2566 มีจำนวน 100,219 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 381.43% ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตในประเทศจีนเป็นสัดส่วนในตลาดถึง 60% จึงทำให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ยังคงสามารถครองใจตลาดเอาไว้ได้
แรงกระเพื่อมนี้ ส่งผลต่อ SME ไทย ทั้งโอกาสและความท้าทาย
จากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของตลาดยานยนต์ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้า ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของนวัตกรรมยานยนต์ EV อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของวงการยานยนต์อย่างถาวร ดังนั้น SME ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ หรือธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการนี้ได้จะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงมองหาช่องทางโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ได้แก่
• โอกาสทางธุรกิจใหม่ SME ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางไฟฟ้า แบตเตอรี่ หรือ ซอฟท์แวร์ สามารถเข้าร่วมเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน ให้บริการซ่อมบำรุงรักษา หรือพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
• โอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีไร้คนขับใหม่ ๆ ขยายตัวขึ้น เป็นโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่ำลง และแผ่ขยายองค์ความรู้ได้กว้างขึ้น เป็นโอกาสที่ SME จะสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดได้
• โอกาสขยายตลาด ความร่วมมือกันของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ครั้งนี้อาจมีแนวโน้มช่วยให้ SME ไทยขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
• การแข่งขัน ความร่วมมือของบริษัทขนาดใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้าและกระบวนการต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อซัพพลายเออร์ รวมถึง SME ที่เกี่ยวข้องได้
• การเข้าถึงเงินทุน SME อาจต้องมีการลงทุนเพื่อเทคโนโลยี หรือเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ จึงเป็นความท้าทายในการเข้าถึงเงินทุน เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือขยายธุรกิจ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ควรเร่งพัฒนาตัวเองด้วยการ ติดตามข่าวสาร เกี่ยวกับความร่วมมือของบริษัทต่าง ๆ ในวงการยานยนต์ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และสามารถปรับตัวตามมาตรฐานใหม่ได้ทัน พัฒนาทักษะ ของบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านการออกแบบ และทักษะด้านภาษา สร้างเครือข่าย เสริมความแข็งแกร่งให้ SME ด้วยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทขนาดใหญ่ สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และขอรับการสนับสนุน
ธุรกิจต้องมีแหล่งเงินทุนที่เข้าใจ
การพัฒนาจะต้องอาศัยการลงทุน หาก SME มีแหล่งเงินทุนที่เข้าใจความต้องการและลักษณะการใช้เงินลงทุนจะช่วยให้การพัฒนาธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น เช่น สินเชื่อสำหรับ SME หรือ สินเชื่อเพื่อสอดคล้องกับการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน โดยผู้ประกอบการสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า การเปลี่ยนยานยนต์ในองค์กรเป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบทั้งในแง่ของการลงทุน การดึงดูดนักลงทุน และคู่ค้า ซึ่งการขอสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
ความร่วมมือของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง SME ไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และหาโอกาสเพื่อพัฒนาธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน