คปภ. เร่งหาข้อยุติแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า EV แพง
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ในยุคปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (รถ EV) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากในวงการยานยนต์ไทย แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฏว่าเบี้ยประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้าแพงกว่าเบี้ยประกันภัยของรถยนต์ทั่วไปอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พัฒนา ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย จึงได้เชิญบริษัทประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายบริษัท และผู้แทนจากคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทยหลายครั้ง เพื่อหารือข้อสรุปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสรุปผลได้ 3 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
ประเด็นแรก สถานการณ์โดยทั่วไป ปัจจุบันมีรถ EV จดทะเบียนทุกประเภทประมาณ 20,000 คัน แบ่งเป็นรถเก๋งประมาณ 7,500 คัน และรถประเภทอื่น ๆ อาทิ รถจักรยานยนต์และรถโดยสารประมาณ 12,500 คัน และบริษัทกำหนดเบี้ยประกันภัยรถ EV สัญชาติเอเชียสูงกว่ารถสันดาปในระดับเดียวกันประมาณ 5-10% รถยุโรปสูงกว่าประมาณ 10-15% และอเมริกาสูงกว่าประมาณ 20-25% ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์กลุ่มนี้
ประเด็นที่ 2 ได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของการรับประกันภัยรถ EV ที่มีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรถสันดาปในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 800:1 ลักษณะการซ่อมไม่ว่าจะเสียหายมากหรือน้อย จะเป็นลักษณะของการเปลี่ยนยกชุดอุปกรณ์แทนการซ่อม ซึ่งจะทำให้มีราคาต้นทุนค่อนข้างสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ยี่ห้อ ORA ราคาทุนประกันภัยประมาณ 8 แสนบาทส่วนของแบตเตอรี่ที่เสียหายต้องมีการเปลี่ยน ต้นทุนในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ยกชุดประมาณ 5 แสนบาท สำหรับความถี่ในการเกิดเหตุนั้นใกล้เคียงกับรถสันดาป แต่ต้นทุนในการเกิดเหตุสูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก ส่งผลให้ Loss Ratio เฉลี่ยของรถ EV สูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก ซึ่งข้อมูลจากการรับประกันภัยรถ EV ของต่างประเทศซึ่งมีประสบการณ์ในการรับประกันภัยมาก่อนพบว่ามี Loss Ratio สูงมากกว่ารถสันดาปถึง 30-40%
ประเด็นที่ 3 ที่ประชุมเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัย ระยะสั้นและเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย ดังนี้
- การจัดทำเอกสารแนบท้าย กำหนดทางเลือกเฉพาะกรณีแบตเตอรี่ได้รับความเสียหายและต้องมีการเปลี่ยนแบบยกชุดเท่านั้น (กรณีใช้วิธีการซ่อม บริษัทรับผิดชอบทั้งหมด) โดยให้มีทางเลือก 3 กรณี ให้ผู้เอาประกันภัยเลือกข้อใดข้อหนึ่ง และบริษัทจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย 10-25% (ตามประสบการณ์ของแต่ละบริษัท) ดังนี้
กรณีที่ 1 จำกัดจำนวนเงินความคุ้มครองของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทจะให้ความคุ้มครองไม่ต่ำไปกว่า 50% ของมูลค่าแบตเตอรี่ หรือ
กรณีที่ 2 กำหนดความรับผิดส่วนแรก โดยจะระบุไม่เกิน 15% ของมูลค่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ
กรณีที่ 3 Copayment กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายร่วมไม่เกิน 15%
- ที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันว่าในช่วงนี้บริษัทประกันภัยรถ EV จะไม่มีการขึ้นเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมโดยบริษัทจะคงราคานี้ไว้ไปก่อน แม้ว่า Loss Ratio ของกลุ่มนี้จะสูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก
- สิ่งที่จะดำเนินควบคู่กันไปเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือจะดำเนินการเก็บรวบรวมสถิติในการรับประกันภัยรถ EV และศึกษารูปแบบการประกันภัยเพื่อจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถ EV เพื่อให้ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัย ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยใหม่ที่บริษัทประกันภัยในประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ โดยกำหนดแผนดำเนินการในปี 2566
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าตนได้สั่งการให้สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยเร่งพิจารณาร่างเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถ EV ร่วมกับสายกฎหมายและคดีเพื่อเสนอต่อนายทะเบียนพิจารณาให้ความเห็นชอบตามกระบวนการและขั้นตอนต่อไป
“การประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (รถ EV) แพง เป็นมาตรการระยะสั้นและเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่และมีประเด็นแตกต่างจากกรณีประกันภัยรถยนต์ทั่วไป ในอนาคตจำเป็นจะต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ EV โดยเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถ EV เพื่อให้ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัยอันจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าว