นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป ร่วมแถลงข่าวเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างกันในการปรับโครงสร้างธุรกิจทรู-ดี แทค ซึ่งนำไปสู่ Telecom-Tech Company เพื่อขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค โดยยืนยันว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ คือการควบรวมอย่างเท่าเทียมกัน โดยทั้งสองฝ่ายถือหุ้นในบริษัทใหม่ ฝ่ายละประมาณ 30% ไม่ใช่การซื้อกิจการ จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามประกาศกสทช. ปี 2561
นอกจากนี้หากพิจารณาการควบรวมที่ผ่านมาในประเทศไทย อาทิ การควบรวมระหว่าง TOT-CAT ซึ่งเป็น NT ในปัจจุบัน สามารถชี้ชัดได้เลยว่า เป็นการควบรวมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และทำได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจาก กสทช. ซึ่งแตกต่างจากดีลของ AIS-3BB ซึ่งเป็นการซื้อกิจการ
ดังนั้นสิ่งที่ กสทช. มีอำนาจคือการกำหนดเงื่อนไข เพื่อสร้างผลประโยชน์ในทางบวก และลดผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้ทั้ง 2 บริษัทยังอยู่ระหว่างการรอทาง กสทช. กำหนดเงื่อนไขซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมภายในระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่บริษัทได้เสนอผู้ถือหุ้นทั้ง True-dtac เพื่อขอความเห็น ซึ่งเกินกว่า 90% ให้ความเห็นชอบ และทำการศึกษารายละเอียดการควบรวมไปเกือบ 100% แล้ว รวมถึงได้ยื่น Filling พร้อมด้วยแผนธุรกิจและข้อมูลทุกอย่างไปตั้งแต่ 25 ม.ค. 2565 ตามระเบียบของ กลต, ตลาดหลักทรัพย์และ กสทช. ซึ่งควรจะได้ข้อสรุปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังติดขัดในเรื่องขั้นตอนการกำกับดูแลจาก กสทช.
ดังนั้น ทางกสทช. จึงควรเดินหน้าพิจารณาเงื่อนไขทันที ก่อนเลยกรอบกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยทางทรูและดีแทคพร้อมทำงานกับกสทช. เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศจากการเกิดเป็นบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ทั้งเครือข่ายเร็วแรงและครอบคลุมที่สุดในไทยและในอาเซียนจาก 49,800 ฐาน รวมถึงนวัตกรรมและโซลูชั่นจากเทคโนโลยีใหม่เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งยิ่งช้าเท่าไหร่ ไทยจะยิ่งเสียโอกาสทางการแข่งขันในระดับภูมิภาคมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงส่งผลเสียทั้งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอุตสาหกรรมในภาพรวมด้วย ซึ่งในส่วนของราคาค่าบริการนั้น กสทช. ยังคงควบคุมค่าบริการพื้นฐาน และมีกลไกตลาดกำกับอยู่แล้ว นอกจากนี้การมีผู้เล่น 2 รายที่แข็งแกร่ง แทนที่จะแข็งแกร่งเพียงรายเดียว ก็จะทำให้การแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วย โดยทางทรูและดีแทคพร้อมให้ความร่วมมือกับกสทช.อย่างเต็มที่ และหวังว่ากสทช. ดำเนินการไปตามครรลองของกฎหมาย กรอบเวลา และเงื่อนไขต่างๆ ตามกฎหมายที่ได้ร่างไว้