นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 13,885 – 13,991 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.90 – 1.67 เพราะสต็อกข้าวหอมมะลิของผู้ประกอบการข้าวบรรจุถุงภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม ได้รับแรงกดดันจากความต้องการข้าวหอมมะลิของสหรัฐอเมริกาที่ลดลง ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.74 – 2.84 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.11 – 4.80 เนื่องจากความต้องการใช้มันสำปะหลังทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยประมาณร้อยละ 3.20 ของผลผลิตทั้งปี 2564/65
สุกร ราคาอยู่ที่ 103.14 – 104.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.14 – 1.35 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ อาทิ ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงเรียนและสถานศึกษา กลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นจาก ค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/กก.) คาดว่า ราคาอยู่ที่ 151.28 – 152.13 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.85 – 1.42 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้กุ้งมีโอกาสเกิดโรคเพิ่มขึ้น อาทิ โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งลดลง ขณะที่การบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว มาตรการส่งเสริม การท่องเที่ยวในประเทศและการเปิดประเทศเต็มรูปแบบรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระตุ้นให้มีการเดินทางท่องเที่ยวและมีความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น
โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 100.20 – 100.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.65 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และเข้าสู่เทศกาลวันแม่แห่งชาติ ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคเนื้อโคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,843 – 8,919 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.63 – 2.46 เนื่องจากอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2 คาดว่า ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลกรุนแรงขึ้น จึงกดดันราคาข้าวขาวในตลาดโลก ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,834 – 9,079 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.98 – 3.65 เนื่องจากเวียดนามมีนโยบายการส่งออกข้าวเหนียวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกสูงขึ้น
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 10.11 – 10.39 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.17 – 2.89 เนื่องจากข้อตกลงส่งออกธัญพืชระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าข้าวสาลีและข้าวโพดในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ผู้ประกอบการอาจชะลอการนำเข้าข้าวสาลีส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปรับตัวลดลงไม่มากนัก
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 17.73 – 17.79 เซนต์/ปอนด์ (14.35 – 14.40 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.55 – 0.88 เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่คาดว่า จะปรับตัวลดลงและการประกาศลดราคาน้ำมันภายในประเทศบราซิล ทำให้ราคาเอทานอลลดลง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลปรับเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล ประกอบกับความกังวลเรื่องการอนุมัติการส่งออกเพิ่มเติมจากอินเดียอีก 1.2 ล้านตัน ส่งผลให้มีอุปทานน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายประเทศเป็นปัจจัยกดดันต่อการบริโภคน้ำตาล
ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 56.04 – 56.23 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.53 – 0.87 เนื่องจากราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลง จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของโลก มีมาตรการเข้มงวดควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้จีนมีชะลอการนำเข้ายางพาราจากไทย อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกยางพาราของไทย
ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.74 – 6.99 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.13 – 4.66 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) แก้ไขมาตรการคว่ำบาตรด้านการส่งออกน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย บริษัทจำหน่ายพลังงาน รายใหญ่ของรัสเซีย ได้แก่ Rosneft และ Gazprom สามารถส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติไปประเทศที่สามได้ ส่งผลต่อความต้องการปาล์มน้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลและราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง