ในปี 2566 ธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องมีแนวโน้มหดตัว -5%YoY เป็น 2.91 หมื่นล้านบาท ตามการลดลงของยูนิตที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคาดว่าจะลดลงราว -22%YoY มาอยู่ที่ 8.5 หมื่นยูนิต และการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่ใน 8M2566 หดตัวลง -6%YoY เป็น 30.9 ล้านตารางเมตร ส่วนในปี 2567 คาดเติบโต 2%YoY เป็น 2.98 หมื่นล้านบาท จากยูนิตที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 6%YoY มาอยู่ที่ 9 หมื่นยูนิต
ค่าใช้จ่ายของธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องในปี 2566 มีแนวโน้มปรับลดลง -6.1%YoY เมื่อเทียบกับปี 2565 และปี 2567 มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยที่ -0.1%YoY เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยเป็นผลจากการ เปลี่ยนแปลงตาม 4 ค่าใช้จ่ายหลัก ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบที่ใช้ในการเคลือบกระเบื้อง และค่าแรง
Krungthai COMPASS มองว่า ความต้องการใช้กระเบื้องภายในประเทศจากการก่อสร้างภาคเอกชนและภาครัฐที่ยังคงเติบโต และการส่งออกกระเบื้องของไทยที่คาดยังสามารถเติบโตจากคุณภาพที่เหมาะสมของกระเบื้องที่ผลิตในไทย เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้อง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรมีการจัดการควบคุมต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับกระเบื้องนำเข้าและการส่งออก อีกทั้งควรพัฒนารูปแบบสินค้ากระเบื้องให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมและติดตั้งได้ง่ายกว่าเดิม รวมถึงจับมือเป็นพันธมิตรกับร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมา เพื่อช่วย upskill แรงงาน