นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากทิศทางภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 พร้อมด้วยปัจจัยการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอุปสงค์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยที่ขยายตัว โดยบริษัทฯ ยังคงเน้นการให้บริการเส้นทางบินที่รองรับผู้โดยสารจากต่างประเทศที่เดินทางมาด้วยสายการบินพันธมิตรเป็นหลัก เช่น กรุงเทพ-สมุย กรุงเทพ-ภูเก็ต และกรุงเทพ-เชียงใหม่ ส่งผลให้ช่วงไตรมาสที่ 3 / 2566 บริษัทฯ มีการขนส่งผู้โดยสารที่จำนวนทั้งสิ้นเกือบ 1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 70.4 % ของจำนวนผู้โดยสารก่อนการแพร่ระบาดโควิด -19สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการผู้โดยสารทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านคน
นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 3,456.6 ล้านบาท เป็นกำไรจาการดำเนินงาน 3,183.6 ล้านบาท ปรับปรุงดีขึ้น 367.2% จากรายได้บัตรโดยสารของธุรกิจสนามบิน และรายได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินเป็นหลัก ในส่วนค่าใช้จ่ายปรับสูงขึ้น 34.3% ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน
โอกาสทางธุรกิจที่สำคัญจากรายงานการเปลี่ยนแปลงช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้กลับมาให้การบินในส้นทาง กรุงเทพ- มัลดีฟส์ และสมุย-ฮ่องกง และเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ในเส้นทาง ลำปาง – แม่ฮ่องสอน เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้เข้าร่วมทำสัญญาความตกลงเที่ยวบินร่วม (Code Share Agreement) กับสายการบินพันธมิตรเพิ่มเติมจำนวน 1 สายการบิน ได้แก่ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสายการบินที่เข้าทำความตกลงเที่ยวบินร่วมรวมทั้งสิ้น 28 สายการบิน และได้ประกาศข้อตกลงร่วม (Interline Agreement) กับสายการบินแอร์อินเดีย ด้านการขนส่งผู้โดยสาร กระเป๋าสัมภาระ และบัตรโดยสาร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในการเดินทางผ่านเที่ยวบินของแอร์อินเดียไปกรุงเทพฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ และเชื่อมต่อไปยัง 10 จุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์ส ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย ตราด เกาะสมุย กระบี่ ลาว (หลวงพระบาง) และกัมพูชา (พนมเปญ เสียมเรียบ)
“เพื่อตอกย้ำมาตรฐานสากล สายการบินบางกอกแอร์เวย์สยังคงมุ่งบทบาทการเป็น สายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลก และ สายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้รับรางวัลประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” ระดับ 5 ดาวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถือเป็นเครื่องหมายการันตีถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกผ่านหลากโครงการ อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2566 “SET ESG Ratings 2023” ระดับ BBB ในกลุ่มธุรกิจบริการจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคะแนนการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาว “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี” นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม