คณะกรรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความยินดีที่รัฐบาลสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้มีโอกาสเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 7 เดือนแรกกว่า 757 แห่ง มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ที่ประชุม กกร. จึงได้เร่งจัดทำสมุดปกขาว นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ กกร. มองว่า เศรษฐกิจประเทศของไทยยังอ่อนแรงสะท้อนจากการลงทุน แม้ว่ารัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 20% ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เศรษฐกิจในไตรมาสที่สองที่ผ่านมายังชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากถึง 6.8% เหตุสำคัญจากกลุ่มยานยนต์ที่ยอดขายในประเทศลดลงถึง 24% โดยการลงทุนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอสะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหาย สำหรับช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนจะอยู่ที่ราว 6-8 พันล้านบาท หรือ 0.03-0.04% ของจีดีพี ซึ่งภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนในระยะถัดไปต้องติดตามพายุที่อาจจะเข้าได้ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ถือเป็นความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม
กกร. แสดงความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน จึงมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยจัดทำข้อเสนอด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเสนอต่อภาครัฐ โดยเน้นการวางแผนระยะยาวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนปี 2554 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้การบริหารน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการเชื่อมโยงระหว่างความต้องการน้ำ (Demand) และการจัดหาน้ำ (Supply) เพื่อให้สามารถจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันจะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แต่คาดว่าในปี 2567 จะยังมีพายุพัดผ่านประเทศไทยอีก 2 ลูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 จึงต้องมีการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา นอกจากนี้ กกร. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลการเคลื่อนที่ของมวลน้ำในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที และมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในการฟื้นฟูธุรกิจ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการบรรเทาต้นทุนการผลิต และมาตรการทางการเงิน เป็นต้น