จดทะเบียนตั้งใหม่ 8 เดือน สะสมที่ 6.1 หมื่นราย

Date:

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนสิงหาคม 2567 พบว่า มีจำนวน 7,599 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้น 175 ราย หรือ 2.36% และทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ลดลง 7,256.08 ล้านบาท หรือ 29.13% ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า เดือนสิงหาคม 2566 มีธุรกิจตั้งใหม่จดทะเบียนทุนสูง 4,099.50 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 2567 ลดลงผิดปกติ แต่เมื่อ  ไม่นับรวมธุรกิจที่จดทะเบียนสูงดังกล่าว ทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 2567 จะลงลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 3,156.58 ล้านบาท คิดเป็น 15.17% ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 538 ราย ทุนจดทะเบียน 1,082.69 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 508 ราย ทุนจดทะเบียน 1,745.75 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 366 ราย ทุนจดทะเบียน 658.62  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.08% 6.68% และ 4.82% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนสิงหาคม 2567 ตามลำดับ

อธิบดี กล่าวต่อว่า “การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 8 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวน 61,819 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 261 ราย คิดเป็น 0.42% ทุนจดทะเบียน 186,432.87 ล้านบาท ลดลง 283,768.58 ล้านบาท คิดเป็น 60.35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 สืบเนื่องมาจากในปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ ทั้งนี้ 8 เดือนแรกมีประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,698 ราย ทุนจดทะเบียน 19,367.73 ล้านบาท, ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,674 ราย ทุนจดทะเบียน 10,393.74 ล้านบาท และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,838 ราย ทุนจดทะเบียน 5,810.03 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.60% 7.56% และ 4.59% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ตามลำดับ

การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวเติบโตในธุรกิจทุกประเภท อาทิ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงแรมที่พักและการท่องเที่ยว ธุรกิจด้าน Soft-power เช่น ผลิตสุราพื้นบ้าน สื่อภาพยนต์ ธุรกิจการดูแลสุขภาพ ธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กร เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังคงต้องติดตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง    ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศระยะสั้นได้ ทั้งนี้ กรมฯ ยังคาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจปี 2567 อยู่ที่ 90,000 – 98,000 ราย

การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวน 2,063 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 56 ราย คิดเป็น 2.79% และทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้น 6,775.91 ล้านบาท คิดเป็น 96.28% โดยในเดือนนี้มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงฯ ที่มีทุนจดทะเบียน 4,411.50 ล้านบาท หากไม่รวมธุรกิจรายนี้ทุนจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจเดือนสิงหาคม 2567 จะลดลงเพียง 2,364.41 ล้านบาท คิดเป็น 33.59% สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 168 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 467.65 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 110 ราย ทุนจดทะเบียน 483.42 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 77 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 156.42 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.14% 5.33% และ 3.73% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนสิงหาคมตามลำดับ 

การจดทะเบียนเลิกสะสม 8 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวน 9,992 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 979 ราย คิดเป็น 8.92% ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 99,393.33  ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 35,222.68 ล้านบาท คิดเป็น 54.89% ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เป็นสาเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 8 เดือนแรกสูงกว่าปกติ หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไปทุนจดทะเบียนเลิกจะอยู่ที่ 51,183.99 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนจำนวนการจดทะเบียนเลิก คิดเป็น 16.16% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 8 เดือนแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าจำนวนการจดทะเบียนเลิกใน 8 เดือนแรกของปี 2567 มีสัดส่วนที่น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีสัดส่วน 17.82%  ของการจัดตั้งธุรกิจ

ขณะที่ 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบ ธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 535 ราย  แบ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย และการขอ หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือ ความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 392 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามา ลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 136 ราย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท, สิงคโปร์ 82 ราย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท  และสหรัฐอเมริกา 76 ราย เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท

สำหรับการวิเคราะห์รายธุรกิจในเชิงลึกพบว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดดภายหลังจากผ่านช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีการจัดตั้งธุรกิจและทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจ 4,017 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 996 ราย คิดเป็น 32.97% ทุนจดทะเบียน 8,078.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,490.29 ล้านบาท คิดเป็น 22.62% โดย 8 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีธุรกิจร้านอาหารที่จัดตั้งใหม่ 2,847 ราย มูลค่าทุน 5,826.03 ล้านบาท นิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 44,508 ราย มูลค่าทุน 220,916.70 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก S จำนวน 43,874 ราย คิดเป็น 98.58% ธุรกิจขนาดกลาง M จำนวน 521 ราย คิดเป็น 1.17% และธุรกิจขนาดใหญ่ L จำนวน 113 ราย คิดเป็น 0.25% โดยส่วนใหญ่แล้วจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด รองลงมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและบริษัทมหาชน จำกัด ตามลำดับ และมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด (เขตวัฒนา บางรัก และคลองเตย) รองลงมาตั้งอยู่ในภาคใต้ (ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกระบี่) และภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และตราด)

3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 63,000 ล้านบาท ในปี 2564 มีรายได้179,645.68 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 244,412.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.05% และ ปี 2566 มีรายได้ 306,618.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.45% ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารสามารถทำกำไรดีขึ้น (หรือขาดทุนลดลง) โดยเฉพาะในปี 2566 ร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีกำไรสูงถึง 10,369.91 ล้านบาท คิดเป็น 106.90% ของกำไรปี 2566 สำหรับการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจร้านอาหารพบว่า มูลค่าลงทุนของต่างชาติอยู่ที่ 29,071.35 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 6,075.23 ล้านบาท คิดเป็น 20.90%, ญี่ปุ่น 3,162.46 ล้านบาท คิดเป็น 10.88%, จีน 2,326.24 ล้านบาท คิดเป็น 8.00%, อินเดีย 2,168.02 ล้านบาท คิดเป็น 7.46% และฝรั่งเศส 1,607.03 ล้านบาท คิดเป็น 5.53% 

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโตมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มาช่วยบริหารจัดการร้าน การสั่งอาหารหรือการโฆษณาร้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย โดยปัจจุบันไม่จำเป็นต้องตั้งร้านในทำเลที่คนพลุกพลานซึ่งมีการลงทุนที่สูงอีกต่อไป นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าให้เข้ากับความต้องการของคนยุคใหม่ การเลือกใช้วัตถุดิบในการทำอาหารที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ วัตถุดิบที่เป็นออแกนิก โปรตีนที่ทำจากพืช (Plant-based) วัตถุดิบจากต่างประเทศที่นำเข้าได้ง่ายขึ้น และการสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ หรือการให้บริการที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า อาทิ การเสริฟอาหารแบบ Fine Dining และ Chef’s Table ล้วนส่งผลต่อการดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้เข้าร้านและ        เปิดประสบการณ์ใหม่ได้มากขึ้น การตกแต่งบรรยากาศหรือการให้บริการ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร้านอาหารเป็นที่นิยมและมีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ เพราะร้านอาหารไม่เพียงแต่จะขายอาหารเท่านั้น แต่ยังต้องมีมุมสวยๆ ให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปเพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดียซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ที่ดีผ่านผู้ใช้บริการจริงแบบปากต่อปากได้แบบไม่รู้จบ 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารให้สามารถแข่งขันได้มาอย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้านอาหารไทย ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นควบคู่กับการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านอาหารไทย รวมถึงลูกค้าไทยและต่างชาติสามารถเดินเข้าร้าน Thai SELECT ได้ด้วยความมั่นใจ ปัจจุบันมีร้านอาหาร Thai SELECT ทั่วประเทศ 496 ร้าน นอกจากนี้ ยังพัฒนาให้ร้านอาหารเกิดการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ที่จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจแบบก้าวกระโดด เริ่มตั้งแต่การสร้างธุรกิจให้สามารถต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ มีมาตรฐานสากล และมีโอกาสนำเสนอธุรกิจได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯจำนวน 248 ราย และก้าวสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว 27 ราย ใน 31 ประเทศทั่วโลก” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

CIMB Thai หนุนบริษัทไทยฝ่าคลื่นอนาคต

CIMB Thai หนุนบริษัทไทยฝ่าคลื่นอนาคตเกาะกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง

นิสัยคนไทย : เสพติดประชานิยม

นิสัยคนไทย : เสพติดประชานิยม แจกเงินสดหนึ่งหมื่น : หวังลมพายุหมุนได้แค่ลมปาก

เรืองไกร ร้อง กกต. สอบนายกฯ ขัด รธน. ม.184 (4) หรือไม่

เรืองไกร งัดข่าวและคลิปฉุนสื่อยุแยง ร้อง กกต. สอบนายกฯ ขัด รธน. ม.184 (4) หรือไม่

บ้านปู เน็กซ์  ลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) 

บ้านปู เน็กซ์  ลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) บริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการนำออกสู่ตลาด