เครื่องสำอางคลีนบิวตี้ โอกาสทองของผู้ประกอบการไทย

Date:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คลีนบิวตี้ (Clean Beauty) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวคิดดูแลร่างกายและผิวพรรณ ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิว โดยจะต้องมีการคัดสรรวัตถุดิบและส่วนผสมของเครื่องสำอางที่มีความสะอาด ปลอดภัย สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ และไม่ทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีฉลากที่บอกข้อมูลชัดเจนครบถ้วน ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเครื่องสำอางประเภทอื่นที่อาจมีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายเข้ามาผสมด้วย อาทิ สารพาราเบน (สารกันเสีย) ที่อาจพบในเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้ร่างกายของผู้ใช้มีความเสี่ยงและเป็นอันตราย 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดกระแสความนิยมเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ คือ การที่ผู้บริโภคตื่นตัวหันมาใส่ใจในสุขภาพและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจของผู้บริโภคจำนวน 2,200 ราย ในสหรัฐอเมริกา พบว่าตามปกติแล้วผู้บริโภคมีการใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายเฉลี่ยประมาณ 12 ชิ้นต่อวัน  โดยเครื่องสำอางเหล่านี้มีส่วนประกอบมากกว่า 112 ชนิด ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความกังวลทางตรงต่อร่างกายและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ส่วนประกอบจำนวนมาก ปัจจัยถัดมาคือการเพิ่มระดับความเข้มงวดของกฎระเบียบในบางประเทศ อาทิ พระราชบัญญัติ The Toxic-Free Cosmetics ของสหรัฐอเมริกา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามใช้สารเคมีที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่มีความสำคัญ

ในยุคปัจจุบันคือ อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ได้อย่างรอบคอบ รวมถึงการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ที่อำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายขึ้น 

ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องสำอางใหม่ ๆ ทำให้เครื่องสำอางคลีนบิวตี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลการเข้าชม hashtag #CleanBeauty บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปี 2566 ที่มีมากกว่า 1.9 พันล้านครั้งบน TikTok และ 6.1 พันล้านครั้งบน Instagram  นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด MarketResearch.biz ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของโลกมีมูลค่า 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16.65 จนมีมูลค่าสูงถึง 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2576 ซึ่งภูมิภาคที่มีการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางคลีนบิวตี้รวดเร็วที่สุดคือ ทวีปอเมริกาเหนือ โดยกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงในกลุ่มมิลเลนเนียล (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 2523-2539) ที่มีกำลังทรัพย์และเต็มใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและสอดคล้องกับค่านิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถดูแลผิวให้ดูอ่อนเยาว์และชะลอวัยจากการบำรุงอย่างล้ำลึกและเป็นธรรมชาติ 

จากกระแสความนิยมเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ที่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก ถือเป็นโอกาสดี หากผู้ประกอบการไทยได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบรับกระแสความต้องการที่กำลังเติบโต เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญของทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ รวมถึงเป็นผู้ส่งออกเครื่องสำอาง (HS 3303-3307, 3401) อันดับที่ 2 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) และอันดับที่ 17 ของโลก โดยในปี 2566 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 2,588.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.58 จากปีที่ผ่านมา ประเทศที่ไทยส่งออกเครื่องสำอางสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ไทยนำเข้าเครื่องสำอางเป็นมูลค่า 1,199.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.71 จากปีที่ผ่านมา 

โดยแหล่งนำเข้า 3 อันดับแรกของไทยคือ ฝรั่งเศส จีน และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกเครื่องสำอางไทย แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของความนิยมเครื่องสำอางไทยที่ได้รับการไว้วางใจจากคนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเครื่องสำอางไทยมีคุณภาพ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และราคาย่อมเยา

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีศักยภาพในการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเครื่องสำอางคลีนบิวตี้นับเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของโลกและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางการค้าจึงต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการพัฒนาเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของไทยให้มีคุณสมบัติลดริ้วรอยและชะลอวัย เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของทั้งสังคมไทยและโลก และยกระดับการผลิตเครื่องสำอางไทย ให้ได้รับมาตรฐาน/รางวัลทั้งในประเทศและระดับสากล อาทิ Thailand Trust Mark (T mark) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่แสดงถึงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าไทย รวมถึงผสมผสานการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติของไทย เพื่อสร้างอัตลักษณ์และจุดขายที่แตกต่างจากแบรนด์ของประเทศอื่น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องส่งเสริมความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับสร้างโอกาสในการประชาสัมพันธ์เพื่อผลักดัน ให้เครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับสากล 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

CIMB Thai หนุนบริษัทไทยฝ่าคลื่นอนาคต

CIMB Thai หนุนบริษัทไทยฝ่าคลื่นอนาคตเกาะกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง

นิสัยคนไทย : เสพติดประชานิยม

นิสัยคนไทย : เสพติดประชานิยม แจกเงินสดหนึ่งหมื่น : หวังลมพายุหมุนได้แค่ลมปาก

เรืองไกร ร้อง กกต. สอบนายกฯ ขัด รธน. ม.184 (4) หรือไม่

เรืองไกร งัดข่าวและคลิปฉุนสื่อยุแยง ร้อง กกต. สอบนายกฯ ขัด รธน. ม.184 (4) หรือไม่

บ้านปู เน็กซ์  ลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) 

บ้านปู เน็กซ์  ลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) บริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการนำออกสู่ตลาด