นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-อินเดีย (The Thailand – India Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ครั้งที่ 9 ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2565 ร่างเอกสารผลลัพธ์ฉบับนี้ เป็นการกำหนดท่าทีของประเทศไทยผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ กับอินเดีย ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ
1.ด้านการเมืองและความมั่นคง พร้อมรับมือความท้าทายทางด้านความมั่นคง ครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางทะเล ยาเสพติด อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การประมงผิดกฎหมาย การลักลอบค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมือง การก่อการร้าย รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์
2.ด้านเศรษฐกิจการค้าทวิภาคีและการลงทุน ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่สอดรับกันของทั้งสองประเทศ โดยอินดีมีนโยบาย เช่น นโยบาย Made In India นโยบาย Smart City นโยบาย Startup India เป็นต้น ส่วนนโยบายของไทย เช่น นโยบาย Bio Circular Green Economy (BCG) นโยบาย Thailand 4.0 เป็นต้น
3.ด้านความเชื่อมโยง มุ่งเน้นผลักดันโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย (IMT) การจัดทำความตกลงยานยนต์สามฝ่าย IMT Motor Vehicles Agreement (MVA) รวมถึงความตกลง Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย ซึ่งครม. เห็นชอบไปแล้วเมื่อ 1 มีนาคม 2565 เพื่อให้สายการบินทั้งสองประเทศสามารถทำการบินรับขนส่งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ระหว่างกันได้ รวมถึงการขยายขอบเขตการบริการเดินอากาศให้สามารถบริการเที่ยวบินตรง เพื่อเชื่อมโยงไทยกับอินเดียได้มากขึ้น
4.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กับองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรมสาขาอวกาศและอวกาศเชิงประยุกต์
5.ด้านการกงสุล ไทยเสนอให้อินเดียพิจารณาความเป็นไปได้ให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (VOA)
ส่วนประเด็นภูมิภาคและพหุภาคีที่มีจะมีการหารือในที่ประชุม อาทิ 1.อินเดียพร้อมสนับสนุนการเป็นประธาน BIMSTEC ของไทย ภายใต้หัวข้อ Prosperous Resilient and Open BIMSTEC หรือ PRO BIMSTEC และเน้นย้ำการพัฒนาอ่าวเบงกอลให้มีสันติภาพ มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจุดแข็งร่วมกัน 2.ไทยจะจับมือกับหุ้นส่วนในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG ให้เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 3.ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา