นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2567 ว่า มีวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์เบนซินผลิตใหม่ตามมาตรฐานยูโร 6 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากรถยนต์ รวมทั้งบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น
เลขาลอรี่ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นชอบในกรอบเวลาดังกล่าว แต่ในส่วนของรถยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งเป็นรถเชิงพาณิชย์ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยต้องคำนึงมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นยอดขายรถยนต์ดีเซลที่ลดลงกว่า 30% ต้นทุนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นกว่า 60,000 บาทต่อคัน และการติดตั้งน้ำยาบำบัดไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล หรือ AdBlue ที่อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทรุดตัวหนักขึ้น หรืออาจส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานไทยกว่า 45,000 คน และใน supply chain กว่า 8 แสนคน ในทางกลับกันการยกระดับจากยูโร 5 ไปเป็นยูโร 6 สามารถลด PM2.5 ได้เพียง 0.01 กรัม/กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ช่วยเรื่องสารข้างเคียงซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) โดยที่ผ่านมาได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐาน Euro 6 กับรถยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ออกไปก่อน
”ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ได้เร่งหารือกับทุกฝ่าย ทั้งในส่วนของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆ ในการหาทางออกการบังคับใช้ยูโร 6 ร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ความเป็นจริง ทั้งสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ มาตรการที่ดีจึงไม่ใช่การบังคับใช้‘เร็วที่สุด’ แต่เมื่อ‘พร้อมที่สุด’กับทุกฝ่าย“ เลขาฯ พงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย